หมดวัยแต่ “ไม่หมดไฟในการทำงาน”

เมื่อคนอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 1.9 แสนคนในอีสาน
ยังอยากพัฒนาขีดความสามารถอยู่
.
การสูงวัยของประชากรเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในต้นสหัสวรรษนี้ ประชากรโลกมีอายุสูงขึ้นเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดและผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น
.
ปี 2563 โลกของเรามีประชากรรวม 7,795 ล้านคน เป็น “ผู้สูงอายุ” ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 1,050 ล้านคน หรือคิดเป็น 14% ของประชากรโลก
.
ส่วนอาเซียน มีประชากรรวม 664 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุท่ีมีอายุ 60 ปีขึ้นไป 73 ล้านคน หรือคิดเป็น 11% ของประชากรอาเซียน
.
สำหรับประเทศไทยนั้น มีประชากรรวม 66.5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 18% ของประชากรทั้งประเทศ
.
ถึงแม้ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ตามหลักเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติที่ว่า มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งในปีนั้นไทยมีผู้สูงอายุ 10.4%
.
แต่รู้หรือไม่ว่าสิ้นปี 2564 นี้ ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ตามหลักเกณฑ์ คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดการณ์ว่าในปี 2574 เราจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) คือมีประชากรสูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ
.
โดย 5 จังหวัดที่มี “ผู้สูงอายุ” หรือประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากที่สุด (นับจำนวนคน) ในปี 2564
อันดับ 1 กรุงเทพมหานคร มีผู้สูงอายุ รวม 1,296,919 คน
อันดับ 2 นครราชสีมา มีผู้สูงอายุ รวม 537,421 คน
อันดับ 3 ขอนแก่น มีผู้สูงอายุ รวม 367,316 คน
อันดับ 4 เชียงใหม่ มีผู้สูงอายุ รวม 351,216 คน
อันดับ 5 อุบลราชธานี มีผู้สูงอายุ รวม 345,974 คน
.
จะพบว่า 3 ใน 5 เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคอีสาน ซึ่งเมื่อลองมาดูทั้งภาค จะพบว่า อีสานมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 4 ล้านคน (1 ใน 3 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งประเทศ) แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ในประชากรกลุ่มนี้ เป็นผู้สูงอายุที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถอยู่ 1.9 แสนคน
.
แม้ที่ผ่านมา การจ้างงานผู้สูงอายุในอีสานยังมีรูปแบบงานที่ค่อนข้างกระจุกอยู่ในกลุ่ม “งานฝีมือ” หรือหัตถกรรม เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันไปจนถึงอนาคต ด้วยทั้งประสบการณ์การทำงาน และวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น ประกอบกับการที่รัฐได้ยกเว้นภาษีเงินได้บางส่วนแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน เราก็อาจได้เห็นรูปแบบงานสำหรับผู้สูงอายุที่หลากหลายขึ้นตามไปด้วย
.
ยกตัวอย่าง SE-ED Book Center ธุรกิจร้านหนังสือชื่อดัง ที่มีสาขามากกว่า 260 สาขาทั่วประเทศ ได้เปิดรับสมัครพนักงานสูงอายุเข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ร้านหนังสือมาตั้งแต่ปี 2560 พบว่า “พนักงานสูงวัยเป็นกลุ่มที่มีความเต็มใจในการทำงาน มีความรับผิดชอบ และเห็นคุณค่าของการแนะนำหนังสือมาก”
.
ส่วนผู้ที่กังวลถึงสมรรถภาพทางร่างกายของผู้สูงอายุหากต้องไปยกหรือแบกหนังสือหนัก ๆ ทางซีเอ็ดได้ระบุว่า “บริษัทได้จัดสรรตำแหน่งงานและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้เหมาะสมกับผู้สูงวัย แต่การรับเข้าทำงานก็ยังจะพิจารณาจากโครงสร้างจำนวนพนักงานของแต่ละสาขาด้วย”
.
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ประเภทงานที่จะมีความหลากหลาย จากฐานจำนวนประชากรสูงอายุที่นับวันจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีนั้น ก็น่าจะเป็นโอกาสที่เปิดกว้างพอสมควรสำหรับสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุเช่นกัน
.
.
ที่มา: รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2563, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สำนักงานสถิติแห่งชาติ และประกาศราชกิจจานุเบกษา ที่เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top