ทำไมคนเมืองกับคนชนบท
มีสิทธิในการเข้าถึงน้ำสะอาดไม่เท่ากัน
ปฎิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชนต่างจังหวัดมานานหลายปี อย่างน้ำประปาขุ่น ไหลบ้างไม่ไหลบ้าง ไม่สะอาด และมีกลิ่น ได้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก
ปัญหาเกิดจาก “การจัดสรรงบประมาณของท้องถิ่นไม่เพียงพอ”
เมื่อดูสัดส่วนรายได้ของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ปี 2564 พบว่า รายได้ของส่วนกลาง 1,893,872 ล้านบาท หรือคิดเป็น 70.75% ขณะที่รายได้ของถ้องถิ่น 783,128 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29.25%
ยกตัวอย่าง เทศบาลอาจสามารถที่มีงบลงทุนปีละประมาณ 2 ล้านบาท หากจะทำให้น้ำประปาดื่มได้ต้องใช้งบลงทุน 10 ล้านบาท เพราะฉะนั้นหากจะพัฒนาโรงผลิตระบบน้ำประปาที่ดีมีคุณภาพ สามารถควบคุมด้วยระบบ IoT ได้ ต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี อีสานอินไซต์จึงขอยกโครงการน้ำประปาดื่มได้ น้ำใสใน 99 วัน มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อเป็นต้นแบบและแนวทางในการศึกษาพัฒนาท้องถิ่นต่อไป
เริ่มต้นจากการสำรวจปัญหาในพื้นที่
เทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ได้ทำการสำรวจปัญหาในพื้นที่ และพบว่าปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขคือ “ปัญหาเรื่องน้ำ” จากนั้นได้ทำการออกสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำประปาในพื้นที่ จากทั้ง 5 หมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลอาจสามารถ เพื่อนำมาตรวจวัดค่าต่าง ๆ ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ก่อนจะเข้าไปปรับปรุงระบบน้ำประปา
แล้วจะปรับปรุงระบบได้อย่างไร?
ทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำได้เข้าไปจัดการตั้งแต่ต้นทางการผลิตน้ำประปาในโรงผลิต เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ปรับปรุงคุณภาพน้ำ ยกระดับมาตรฐานการผลิต ไปจนถึงปรับปรุงระบบการส่งน้ำ
การประปาอาจสามารถจะสูบน้ำดิบจากแม่น้ำชี แม่น้ำสายสำคัญของภาคอีสาน เข้าสู่โรงผลิตประปา ด่านแรกที่เจอคือ ถังกวน น้ำดิบจะยังมีทั้งตะกอน โคลน ละลายอยู่ในน้ำ และเพื่อให้น้ำแยกตัวออกมา จะต้องเติมสารส้มลงไป ตามด้วยปูนขาว เพื่อปรับค่า PH ของน้ำให้เหมาะสม แล้วน้ำจะใสขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีระบบกรองต่อไปที่น้ำจะถูกผ่านถังกรองทราย เพื่อกรองตะกอนให้มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น จากนั้นเติมคลอรีนในอัตราส่วนที่พอเหมาะ เพื่อกำจัดแบคทีเรียและฆ่าเชื้อโรค สำคัญคือ จะต้องมีการตรวจ ควบคุมคุณภาพน้ำอยู่ตลอดเวลา
ระยะต่อมา น้ำจะไหลเข้าสู่ถังน้ำใสเพื่อสำรองน้ำ ก่อนจะถูกสูบขึ้นหอถังสูงเพื่อเพิ่มแรงดันในการกระจายน้ำ ไปยังบ้านเรือนของประชาชน
แต่ด้วยสภาพโรงผลิตน้ำประปาที่มีโครงสร้างของอาคารผุพังขาดการดูแล ห้องเครื่องจักรที่ใช้เก็บเครื่องสูบน้ำ ถูกปล่อยปละละเลย ถังน้ำใสที่ไม่ได้ล้างตะกอนมานานหลายปี ห้องเก็บสารเคมีที่ไม่มีมาตรฐาน คือ ปัญหาที่จะต้องแก้ไข และจัดการให้ได้
หลังจากดำเนินการฟื้นฟูสภาพของโรงผลิตน้ำประปา และยกระดับมาตรฐานการควบคุมคุณภาพน้ำประปาให้สามารถใช้เพื่อการบริโภคได้ ผลที่ได้รับคือ คุณภาพน้ำประปาดีขึ้น ประชาชนได้น้ำที่ใสสะอาด มีมาตรฐานการทำงาน ควบคุมคุณภาพน้ำได้ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เมื่อน้ำมีปัญหา
ปัจจุบันมีผลทดสอบคุณภาพน้ำจากห้องปฏิบัติการกลางยืนยันว่าคุณภาพน้ำประปาของเทศบาลตำบลอาจสามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัย และได้ใบรับรองมาตรฐานน้ำประปาดื่มได้อย่างเป็นทางการจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำประปาจาก Rocket Media Lab บอกไว้ว่า ถ้าคนไทยต้องการดื่มน้ำสะอาด 2 ลิตรต่อวัน ต้องทำงานนานถึง 27 นาที เพื่อจ่ายค่าน้ำในราคา 19 บาท (คิดเป็น 45% อ้างอิงจากค่าแรงชั่วโมงขั้นต่ำ 41.31 บาท) ขณะที่คนฝรั่งเศส นอกจากจะดื่มน้ำประปาได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินแล้ว แต่หากต้องซื้อน้ำ ก็ทำงานเพียง 8.73 นาทีเท่านั้น
ค่าน้ำ 19 บาทต่อวัน อาจฟังดูเล็กน้อย แต่เมื่อคูณด้วยจำนวนวันในรอบ 1 ปี จะเป็นจำนวนเงิน 6,935 บาท ซึ่งเป็นรายจ่ายที่คนไทยต้องแบกรับโดยไม่จำเป็น
สุดท้ายนี้ น้ำประปาที่ดื่มได้ ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรตระหนัก ภาครัฐเองก็ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเพียงพอและทั่วถึง ลดขนาดอำนาจและงบประมาณของส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่น ให้มีโอกาสจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง ได้มีโอกาสได้บริหารภาษีของตนเอง
อ้างอิง:
-https://www.facebook.com/watch/?v=383546903450389
-https://tessabanatsamat.go.th/น้ำประปาดื่มได้/
-https://www.matichon.co.th/politics/news_3079047
-https://progressivemovement.in.th/movement/4317/