คูน้ำ เป็นร่องที่ถูกขุดขึ้นเพื่อใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ โดยทำหน้าที่เป็นเส้นทางการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภค
โดยในอีสานใต้ โดยเฉพาะบุรีรัมย์ มีคูน้ำที่ล้อมรอบพื้นที่อยู่อาศัยอยู่มากมาย ซึ่งบทความนี้จะพามาดูต้นกำเนิดของคูน้ำ มีความสำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องราวของเมืองโบราณแห่งอีสานอย่างบุรีรัมย์
ภายในตัวอำเภอเมืองบุรีรัมย์ บริเวณใจกลางเมืองมีคูน้ำขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นรูปวงรีล้อมรอบบริเวณพื้นที่ศาลหลักเมือง คนบุรีรัมย์เรียกคูน้ำนี้ว่า “ละลม” มีความกว้างเฉลี่ย 80 เมตร ยาวประมาณ 5,000 เมตร พื้นที่รวม 179 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา แต่ก่อนมีเพียงคูเดียวล้อมรอบ แต่ปัจจุบันถูกแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ซึ่งละลมแห่งนี้มีประวัติอย่างยาวนานมาตั้งแต่สมัยทวารวดี (ช่วง พ.ศ.1100 – 1500) มีอายุกว่า 1,800 ปี ซึ่งการกร้างละลมนี้มีจุดประสงค์เป็นเพื่อการอุปโภคบริโภคของชาวเมือง และการทำอุตสาหกรรมเหล็กในสมัยก่อนเป็นหลัก โดยละลมถูกจัดตั้งเป็นโบราณสถานตามประกาศกรมศิลปากร ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2523 นอกจากจะเป็นสถานที่ประวัติศาตร์แล้ว ปัจจุบันละลมของเมืองบุรีรัมย์ ก็เป็นสวนสาธารณะและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองบุรีรัมย์และนักท่องเที่ยว
นอกจากละลมในตัวเมืองแล้วนั้น คูน้ำลักษณะนี้ยังกระจายอยู่หลายพื้นที่ในจังหวัด โดยขอยกตัวอย่าง “บ้านปะเคียบ” ตั้งอยู่ ตําบลปะเคียบ อําเภอคูเมือง เป็นชุมชนเมืองโบราณที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล หมู่บ้านมีลักษณะที่ถูกโอบล้อมด้วยคูน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งบ้านปะเคียบแห่งนี้เป็นที่ตั้งของโบราณสถานโนนสำโรง ซึ่งถูกสันนิษฐานว่าชุมชนโบราณแห่งนี้มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากโบราณวัตถุมากมายไม่ว่าจะเป็นก้อนศิลาแลง หรือชิ้นส่วนกระเบื้อง เป็นต้น
โดยตัวอย่างชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ที่มีคูน้ำล้อมรอบเพื่อใช้ประโยชน์ ที่หยิบยกมานำเสนอ ได้แก่
- บ้านเมืองฝ้าย ตำบลเมืองฝ้าย อำเภอหนองหงส์ เป็นอีกชุมชนเมืองโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น ลึกประมาณ 2.50 เมตร
- บ้านทะเมนชัย ตำบลโคกขมิ้น อำเภอพลับพลาชัย เป็นชุมชนเมืองโบราณ มีคูน้ำล้อมรอบขอบเนินเป็นรูปวงรี ตามแนวเหนือใต้ 3 ชั้น กว้างยาวโดยประมาณ 244 ไร่
- บ้านตะลุงเก่า ตำบลโคกม้า อำเภอประโคนชัย เมืองโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบเป็นวงรีซ้อนกันสามชั้น ปัจจุบันเหลืออยู่สองชั้น
- บ้านแสลงโทน ตำบลแสลงโทน อำเภอประโคนชัย กับคูน้ำโบราณตั้งแต่สมัยทวารวดี
นอกจากชุมชนที่กล่าวมา ยังมีชุมชนอื่นๆ ที่มีคูเมืองล้อมรอบ เช่น บ้านพระครู บ้านเมืองดู่ และบ้านไทรโยง คูน้ำถือเป็น ‘นวัตกรรม’ การบริหารจัดการน้ำของชาวอีสานใต้ในอดีต สะท้อนถึงภูมิปัญญาในการปรับตัวของผู้คนที่อาศัยในที่ราบลุ่มแม่น้ำ ระบบคูน้ำนี้ไม่เพียงช่วยกระจายน้ำสู่พื้นที่เพาะปลูกอย่างทั่วถึง แต่ยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง อีกทั้งยังเป็นระบบนิเวศขนาดเล็กที่เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำและพืชน้ำหลากหลายชนิด ซึ่งยังคงให้ประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา
- สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม
- ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม
- วิกิชุมชน
- วารสารเมืองโบราณ
- มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์