ไทยหนึ่งในสามประเทศขุมพลังการผลิต Casio ทั่วโลก

1 ใน 8 โรงงานผลิต Casio ทั่วโลกตั้งอยู่ที่โคราช หนึ่งในฐานการผลิตและส่งออกสินค้าที่สำคัญทั้งนาฬิกา เครื่องคิดเลข

ย้อนกลับไปในปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นาย Tadao Kashio (ทาดาโอะ คาชิโอะ) วิศวกรชาวญี่ปุ่น ได้ก่อตั้งบริษัท คาสิโอ คอมพิวเตอร์ จำกัด โดยเริ่มต้นจากการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์คีบบุหรี่ที่ชื่อว่า Yubiwa Pipe ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุคนั้น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับสภาวะความเครียดหลังสงคราม ผู้คนจำนวนมากจึงหันมาสูบบุหรี่เพื่อผ่อนคลาย

ต่อมาในปี 1949 ทาดาโอะ คาชิโอะ ร่วมกับน้องชายของเขาได้คิดค้นและพัฒนา เครื่องคิดเลข จนกระทั่งในปี 1957 พวกเขาเปิดตัว Casio 14-A ซึ่งเป็นเครื่องคิดเลขอิเล็กทรอนิกส์ที่มีฟังก์ชันหน่วยความจำเครื่องแรกของโลก ความสำเร็จนี้ทำให้ชื่อเสียงของ Casio แพร่หลายไปทั่วโลก

ในปี 1974 ทาดาโอะ คาชิโอะ เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมนาฬิกาข้อมือ ซึ่งในขณะนั้นกำลังเผชิญกับวิกฤต Quartz Crisis หรือ วิกฤตนาฬิกากลไกแบบใส่ถ่าน ทาดาโอะจึงตัดสินใจบุกตลาดด้วยการเปิดตัว Casiotron นาฬิกาดิจิทัลระบบควอตซ์รุ่นแรกที่พัฒนามาจากเทคโนโลยี LCI Quartz ของเครื่องคิดเลข จุดเด่นของ Casiotron คือการเป็นนาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์ที่มีราคาย่อมเยา และมาพร้อมฟังก์ชัน ปฏิทินอัตโนมัติแบบดิจิทัล ที่ไม่จำเป็นต้องรีเซ็ตปฏิทินอีกเลย

ความสำเร็จครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ Casio กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนาฬิกา และปูทางสู่การสร้างสรรค์นาฬิการุ่นใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานและเทคโนโลยีในอนาคต

สินค้าภายใต้แบรนด์ Casio ได้รับการส่งมอบไปยังลูกค้าทั่วโลก โดยมีการขยายเครือข่ายไปยังหลากหลายประเทศ ฐานการผลิตหลักตั้งอยู่ในญี่ปุ่น จีน และไทย พร้อมด้วยการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงกระบวนการประกอบเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน และสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ Casio ยังมีระบบจัดหาวัสดุและพันธมิตรทางธุรกิจที่ครอบคลุมหลากหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานในระดับโลก นอกจากนี้ Casio ยังถือครองสิทธิบัตรทางการค้ามากถึง 1,427 ฉบับใน 192 ประเทศ เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ Casio

ในปี 2566 สินค้าหลักของ Casio ที่วางจำหน่ายทั่วโลกสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มสำคัญ ได้แก่

  1. ธุรกิจนาฬิกา คิดเป็นสัดส่วน 59.7% ของรายได้ทั้งหมด โดยสินค้าหลักคือ นาฬิกาที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านเทคโนโลยีล้ำสมัยและดีไซน์ที่ทันสมัย
  2. ธุรกิจเพื่อการศึกษา คิดเป็นสัดส่วน 22.7% ของรายได้ทั้งหมด สินค้าในกลุ่มนี้เน้นตอบโจทย์ด้านการศึกษา เช่น พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูง และเครื่องคิดเลขทางการเงิน
  3. ธุรกิจด้านเสียง คิดเป็นสัดส่วน 10.0% ของรายได้ทั้งหมด โดยสินค้าหลัก เช่น คีย์บอร์ดไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่รู้จักและใช้งานกันอย่างแพร่หลาย
  4. ธุรกิจอุปกรณ์ระบบ คิดเป็นสัดส่วน 5.6% ของรายได้ทั้งหมด ธุรกิจกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นงานหลังบ้านที่ไม่ได้พบเห็นบ่อยในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไทย

การตั้งโรงงานของ Casio ในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นการสนับสนุนการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ นอกจากนี้ การส่งออกนาฬิกาของไทยยังถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูง แม้จะไม่ได้อยู่ใน 20 อันดับแรกของสินค้าส่งออกหลักก็ตาม ในปี 2566 ประเทศไทยส่งออกนาฬิกาคิดเป็นมูลค่ารวม 25,800 ล้านบาท ซึ่งจัดเป็นอันดับที่ 11 ของโลกในอุตสาหกรรมนาฬิกา โดยในกลุ่มธุรกิจผลิตนาฬิกามี Casio เป็นผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 90% แสดงให้เห็นว่าในประเทศไทยนั้น Casio ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในประเทศ และรายได้ในกลุ่มธุรกิจนี้ก็มีการปรับตัวสุงขึ้นในแต่ละปี ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีต่อบริษัทเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อภาพรวมของประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ตั้งแต่ปี 2557 Casio ได้มีการย้ายฐานการผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องคิดเลข-พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศจีนมายังประเทศไทย จากเดิมที่มีการผลิตนาฬิกาอยู่แล้ว สาเหตุการบ้านเป็นผลจากการปรับขี้นของค่าแรงในจีนที่ทำให้ต้นทุนมีการปรับตัวสูงขึ้นตาม การย้ายฐานมายังประเทศไทยจึงเป็นตัวเลือกที่ดี โดยในปี 2557 ประเทศไทยมีสัดส่วนการผลิตสินค้าอยู่ที่ 20% โดยจีนเป็นฐานการผลิตที่สูงสุดกว่า 80%

นายฮิโรชิ นากามูระ กรรมการบริหารอาวุโส กรรมการบอร์ด และผู้จัดการทั่วไปอาวุโส กลุ่มงานการตลาดโลก ฝ่ายกลยุทธ์การตลาดโลก ฝ่ายขายต่างประเทศ บริษัท คาสิโอ คอมพิวเตอร์ จำกัด ในปี 2557 ได้มีการกล่าวว่า “ประเทศไทยคือตลาดที่ใหญ่ที่สุดของคาสิโอในภูมิภาคอาเซียน ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 67 ล้านคน และเป็นตลาดที่ทำรายได้สูงอันดับที่สองรองจากสิงคโปร์ มีรายได้ประมาณ 5 พันล้านเยนเมื่อปี 2557 และตั้งเป้าหมายรายได้เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านเยนในปี 2560 โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้ในไทยมาจากนาฬิกาคาสิโอเป็นหลัก 50% และจะเพิ่มบทบาทและสัดส่วนรายได้ในกลุ่มอื่นด้วย เช่น โปรเจกเตอร์ดิจิตอล และดิกชันนารีไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่รายได้ทั่วโลกของคาสิโอมีประมาณ 300 ล้านเยน สัดส่วนรายได้เรียงลำดับ คือ ญี่ปุ่น ยุโรป จีน และอเมริกาเหนือ ส่วนอาเซียนสัดส่วนรายได้ประมาณ 10%” นายฮิโรชิกล่าวในตอนท้าย

อ้างอิงจาก

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, เว็บไซต์ของบริษัท, รายงานประจำปี, Voice Online, MGR Online, Auction House

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top