คุณคิดว่า “ความสุข” ของคนในสังคมเราอยู่ระดับไหน ?

จากภาพรวมความสุขของคนไทย
.
รายงาน The World Happiness Report 2021 ที่ดำเนินการสำรวจข้อมูลดัชนีความสุขมวลรวมของแต่ละประเทศทั่วโลก เปิดเผยว่าในปี 2020 ประเทศไทยมีดัชนีความสุขอยู่ในอันดับที่ 48 (5.885 คะแนน) ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี 2017 ถึง 2019 ดัชนีความสุขของเราอยู่ในอันดับที่ 44 (5.999 คะแนน) เท่ากับว่าถดถอยลงมา 4 อันดับ (-0.114 คะแนน)
.
โดยเกณฑ์ที่ใช้วัดในปีนี้ ประกอบด้วย GDP ต่อหัว, อัตราการว่างงาน, สวัสดิการสังคม, จำนวนปีที่เหลือของชีวิตที่ (คาดว่า) ยังมีสุขภาพดี, เสรีภาพในการใช้ชีวิต, มุมมองของการเป็นผู้ให้, การรับรู้เกี่ยวกับคอร์รัปชัน รวมไปถึงประเด็นที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ อย่างการเสียชีวิตจาก COVID-19 ที่ทำให้ผู้สัมภาษณ์ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเก็บข้อมูลจากการพูดคุยต่อหน้าไปเป็นการโทร
.
.
ความสุขของคนไทยรายภาค – จังหวัด
.
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ได้ทำการสำรวจความสุขของประชาชนคนไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (ตลอดปี 2020) ผ่านคำถามสุขภาพจิต 15 ข้อในแบบสอบถามที่มีคะแนนเต็ม 45 คะแนน ผลปรากฏว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือมีคะแนนความสุขเฉลี่ยสูงสุด คือ 34.36 คะแนน รองลงมาเป็นภาคใต้ 34.18 คะแนน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33.88 คะแนน ภาคกลาง 33.53 คะแนน ส่วนเขตกรุงเทพฯ และ 3 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) มีคะแนนความสุขต่ำกว่าภาคอื่น ๆ คือ 32.06 คะแนน
.
หรือหากเจาะลึกเป็นรายจังหวัด ที่มีคะแนนความสุข 7 อันดับแรก จะประกอบด้วย 1.มหาสารคาม (37.39 คะแนน) 2.ชุมพร (37.21 คะแนน) 3.ชัยภูมิ (37.15 คะแนน) 4.น่าน (37.04 คะแนน) 5.ร้อยเอ็ด (36.64 คะแนน) 6.สมุทรสาคร (36.40 คะแนน) และ7.บึงกาฬ (36.37 คะแนน) ซึ่งในแรงก์นี้ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่ามีจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานถึง 4 จังหวัด
.
โดยปัจจัยสนับสนุนที่สอดคล้องกับสภาพสังคม ไม่ว่าจะเป็นความผูกพัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทั้งกับคนในครอบครัว ชุมชน หรือที่ทำงาน ตลอดจนสภาพแวดล้อมและความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีผลอย่างมากกับความสุขของพวกเขาเหล่านี้
.
แต่หากลองไปดูผลสำรวจ (ออนไลน์) ของสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ที่พูดถึงระดับความสุขของผู้คนในปีเดียวกัน น่าสนใจว่า มีจังหวัดในภาคอีสานกว่าครึ่งหนึ่ง (10 จังหวัด) ที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้คะแนนความสุขโดยรวมอยู่ในระดับ “จะว่าดีก็ไม่ใช่ จะว่าแย่ก็ไม่เชิง” ทั้งนี้อาจเพราะมีตัวชี้วัดบางตัวที่เชื่อมโยงผู้คนกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19, ความขัดแย้งทางการเมือง และผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง
.
.
เป้าหมายความสุขของคนไทยในปี 2021
.
เมื่อถามถึงเป้าหมายความสุข จากข้อมูลของ IPPD ประชาชนส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับด้านสุขภาพ การเงิน ครอบครัว และความมั่นคงในชีวิตของตัวเอง มากกว่าการไปคาดหวังความเปลี่ยนแปลงในสังคมและบ้านเมืองจากภาครัฐ
.
.
สุดท้ายเราอยากจะบอกว่า ข้อมูลทางสถิติเหล่านี้เป็นเพียงกระบวนการคัดสรรตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับหัวข้อความสุขที่กำหนดไว้เท่านั้น การวิเคราะห์แนวโน้มยังสามารถขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ของตัวผู้ตอบแบบสำรวจได้ อีกทั้งการที่คนเรามีมุมมองความสุขที่ต่างกันออกไปในแต่ละช่วงเวลา ย่อมมีผลกับระดับความสุขที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
.
#ISANInsightAndOutlook
.
.
ขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ IPPD

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top