“บนโลกนี้ไม่มีสิ่งใดแน่นอนนอกจากความตายและภาษี”
– Benjamin Franklin, 1789 –
จากส่วนหนึ่งของประโยค “Our new Constitution is now established, everything seems to promise it will be durable; but, in this world, nothing is certain except death and taxes.” ประโยคดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) เขียนถึงฌอง-บัปติสต์ เลอรัว (Jean-Baptiste Le Roy) ในปี ค.ศ. 1789 สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองเชิงปรัชญาเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของชีวิตและข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลก ซึ่งก็คือ “ความตาย” และ “ภาษี” และยังคงสะท้อนถึงความจริงที่ยังคงเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
แต่สำหรับกรณีประเทศไทยนั้นภาษีนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นของแสลงต่อกัน ที่หลายคนมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีอย่างสุดความสามารถ ขณะที่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ทำตามระบบอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดและโดนเรียกภาษีย้อนหลังซึ่งถือเป็นฝันร้ายสำหรับใครหลายๆ คน
จากกรณีในช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาที่มีการรายงานข่าวว่ารัฐบาลกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยเป็น 15% จากปัจจุบันที่มีการบังคับใช้อยู่ที่ 7% จึงทำให้เกิดข้อโต้แย้งและการตั้งคำถามว่าการที่คิดจะปรับภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นเท่าตัวนั้นเหมาะสมแล้วจริงๆหรือ? หากดูจากสถานการณ์ปัจจุบันของไทยนั้นควรจะทำหรือไม่? ซึ่งในทุกครั้งที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตามมีการพูดถึงการปรับขึ้น หรือการไม่ต่อพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเกิดการตั้งคำถามทุกครั้งว่าเหมาะสมแล้วหรือยัง?
ทำไมภาษีจึงสำคัญ?
แท้จริงแล้วไม่ใช่เพียงภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้นที่สำคัญ แต่ภาษีทุกตัวล้วนมีความสำคัญต่อประเทศทั้งหมด เพราะเงินภาษีที่ได้มากจากประชาชนนั้นจะเป็นแหล่งงบประมาณของรัฐบาลในปีงบประมาณต่อไป ซึ่งหากเงินภาษีที่เก็บมาได้นั้นไม่เพียงพอต่องบประมาณจะทำให้รัฐบาลต้องไปกู้เงินจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาเป็นงบประมาณของรัฐบาลในปีนั้นๆ หากดูสัดส่วนรายได้จากภาษีของไทยจะพบว่ารายได้หลักของรัฐบาลที่มีสัดส่วนมากที่สุด 5 อันดับแรก ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งมีสัดส่วนเฉลี่ย 25% ของรายได้ทั้งหมดต่อปี ภาษีเงินได้นิติบุคคล 20.8% ต่อปี ภาษีสรรพสามิต 18.6% ต่อปี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 11.3% ต่อปี และภาษีศุลกากร 7.5% ต่อปี ขณะที่รายได้จากแหล่งอื่น ๆ รวมกันคิดเป็น 16.7% ของรายได้ทั้งหมด
จะเห็นได้ว่าภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นรายได้ที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล โดยมีสัดส่วนสูงสุดต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มได้ถึง 947,320 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต สอดคล้องกับการเติบโตของรายได้ที่สามารถจัดเก็บได้ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มคาดว่าจะยังคงอยู่ที่ประมาณ 30% ของรายได้ทั้งหมด
รูปที่ 1: สัดส่วนการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ปีงบประมาณ 2533 – 2567
ที่มา: ส่วนนโยบายรายได้ กองนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
รูปที่ 2: ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ปีงบประมาณ 2533 – 2567
ที่มา: ส่วนนโยบายรายได้ กองนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร?
ประเทศไทยเริ่มนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 เพื่อแทนที่ระบบภาษีการค้าเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความซับซ้อนและข้อจำกัดของระบบภาษีเดิม ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้นั้นเป็นแบบภาษีการบริโภค (Consumption Type VAT) ซึ่งเน้นการเก็บภาษีจากการบริโภคสินค้าและบริการเท่านั้น การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใช้วิธีการเครดิต (Credit Method) โดยคำนวณจากภาษีของผลผลิต (Output Tax) หักด้วยภาษีของวัตถุดิบหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง (Input Tax) ซึ่งช่วยลดความยุ่งยากในการคำนวณมูลค่าเพิ่ม
ประเทศไทยกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ 2 อัตรา ได้แก่ อัตราร้อยละ 10 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ และสินค้านำเข้า ตามมาตรา 80 ของประมวลรัษฎากร และอัตราร้อยละ 0 สำหรับกิจการบางประเภท เช่น การส่งออก หรือการให้บริการในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1 นอกจากนี้ ยังมีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการบางประเภท เช่น การจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการรักษาพยาบาล ตามมาตรา 81
ภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยประกอบด้วยสองส่วนคือ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรในอัตรา 9% และภาษีท้องถิ่นในอัตรา 1 ใน 9 ของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเทียบเท่ากับ 1% เมื่อรวมกันแล้วจะได้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 10% ตามกฎหมายที่กำหนด ระบบดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลและลดปัญหาความซ้ำซ้อนของภาษีในระบบเดิม
โดนคุมกำเนิดตั้งแต่ยังไม่เกิด
เพียงหนึ่งเดือนหลังจากที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บจากภาษีการค้ามาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 รัฐบาลได้ประกาศลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 10% เหลือ 6.3% โดยอาศัยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 236) พ.ศ. 2534 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2534 รวมกับภาษีท้องถิ่นอีก 0.7% ทำให้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสุทธิอยู่ที่ 7% ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในปัจจุบัน ประเทศไทยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 6.3% ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 790) พ.ศ. 2567 ซึ่งมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567 โดยยังคงรวมภาษีท้องถิ่น 0.7% ให้เป็นอัตราสุทธิที่ 7% เช่นเดิม
IMF บังคับให้รัฐบาลต้องเก็บ VAT ที่ 10% ได้ระยะหนึ่ง
ในช่วงวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย (หรือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง) ปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยได้ปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 10% เป็นการชั่วคราว โดยอิงตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 309) พ.ศ. 2540 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2540 การปรับเพิ่มอัตราดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ที่กำหนดให้ไทยต้องดำเนินการปรับโครงสร้างอุปสงค์มวลรวม (Demand-side Structural Adjustment)
อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านไปเพียงปีเศษ รัฐบาลได้ปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มกลับมาอยู่ที่ 7% ตามเดิม โดยออกตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 253) พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 นับแต่นั้นมา อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ได้รับการกำหนดและขยายระยะเวลาทุกปีตามมติของคณะรัฐมนตรี
ภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยเก็บน้อยเกือบจะที่สุดในโลก
หลายหน่วยงานได้เสนอแนะให้ไทยพิจารณาปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราต่ำมากเมื่อเทียบกับทั่วโลก ปัจจุบันไทยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเพียง 7% ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำที่สุดในโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีในกลุ้มเดียวกันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 14.24% แสดงให้เห็นว่าการที่รัฐบาลที่มีความคิดที่จะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มไปที่ 15% นั้นถือเป็นการปรับขึ้นให้อยู่ใหล้เคียงที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลก ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่ประมวลรัษฎากรได้กำหนดไว้ที่ 10%
รูปที่ 3: อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของทุกประเทศในโลก ปี 2565
ที่มา: World Population Review
ทำไมรัฐบาลไทยไม่สามารถขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้?
หากพิจารณาในมุมมองของรัฐบาล การปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหรือการไม่ต่ออายุพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ย่อมส่งผลดีต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน เนื่องจากจะช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐบาลอีกอย่างน้อย 3% ซึ่งหากอ้างอิงจากมูลค่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 300,000 ล้านบาท
การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มกลับไปที่ 10% นั้นไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนหรือยุ่งยากอะไร เนื่องจากหากไม่มีการต่ออายุพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะกลับไปที่ 10% โดยอัตโนมัติและมีผลบังคับใช้ทันที แต่อย่างไรก็ตาม ในทุกปีรัฐบาลมักจะเลือกที่จะต่ออายุการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เช่น ในปี พ.ศ. 2567 รัฐบาลได้ให้เหตุผลในการต่ออายุโดยระบุว่า “เพื่อรักษาระดับการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย สมควรขยายเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2568”
หากมองในมุมของประชาชนจะพบว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นคือภาษี “ทางอ้อม” ที่ผลักภาระให้ผู้บริโภค “โดยตรง” เช่น หากเรามองในกรณีทั่วไปจะพบว่าจากเดิม หากผู้บริโภคมีเงิน 1000 บาท การซื้อของใช้ใดๆ ก็ตาม สมมติว่าคุณซื้อสินค้าในราคาก่อนภาษี 1,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% จะต้องจ่ายภาษี 70 บาท รวมราคาสินค้าทั้งหมดเป็น 1,070 บาท แต่หากปรับขึ้นภาษีเป็น 10% คุณจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 100 บาท ทำให้ราคาสินค้ารวมภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 บาท หรือแพงขึ้น 30 บาทจากเดิม ในมุมมองของบางคนอาจจะมองว่าการเพิ่มขึ้นของราคานั้นก็ไม่ได้สูงมากมายแต่อย่างใด แต่หากมองในมุมของผู้ที่มีรายได้น้อยจะพบว่าการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับสินค้าและบริการทั่วไปจะกระทบกำลังซื้อ และทำให้บริโภคได้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า
หากมองในมุมของธุรกิจเองก็ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นและทำให้ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่ม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของร้านค้า และทำให้ความต้องการซื้อของลูกค้าลดลง และยิ่งเป็นในกรณีปัจจุบันที่สามารถสิ่งสินค้าออนไลน์ราคาถูกจากจีนได้โดยตรงแล้วนั้นจะยิ่งทำให้ธุรกิจนั้นอยู่ยากมากยิ่งขึ้นจากต้นทุนที่สูงกว่า
ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ไหน?
จากที่ได้กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้าว่าการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะสร้างภาระเพิ่มเติมให้กับผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเมื่อเทียบกับรายจ่าย จะพบว่าภาพรวมของประเทศนั้นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างรายได้และรายจ่ายในระดับที่สามารถมีเงินเหลือเก็บได้อย่างสบายใจ แต่เมื่อมองลึกลงไปในแต่ละภูมิภาคจะพบว่า รายได้และรายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก ส่งผลให้การปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายจ่ายภายในครัวเรือนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ รายได้ขั้นต่ำของประเทศไทยยังไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้หากราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นสวนทางกับการคงที่ของรายได้ขั้นต่ำ จะทำให้ประชาชนลำบากมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงปัจจัยเงินเฟ้อ ซึ่งยิ่งซ้ำเติมภาระให้หนักขึ้นกว่าเดิม
รูปที่ 4: รายได้และรายจ่ายต่อครัวเรือน ประจำปี 2566 แบ่งรายภูมิภาค
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ
นอกจากรายได้แล้วนั้น ในปี พ.ศ. 2557 ธนาคารโลก (World Bank) ได้เผยแพร่รายงาน Revenue Potential, Tax Space, and Tax Gap: A Comparative Analysis ซึ่งแสดงถึงศักยภาพในการจัดเก็บรายได้ภาษีของแต่ละประเทศเมื่อเทียบกับสัดส่วน GDP รายงานระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดเก็บอยู่ที่ 25.04% ต่อ GDP อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีได้ใกล้เคียงกับศักยภาพที่ประเมินไว้
รายงานดังกล่าวไม่ได้ประเมินเพียงแค่รายได้ภาษีและศักยภาพในการจัดเก็บเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับรายได้ของรัฐบาล ธนาคารโลกชี้ว่า ขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 50.25% ของ GDP ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 30.41% เศรษฐกิจนอกระบบในระดับนี้สะท้อนถึงการสูญเสียรายได้มหาศาลของรัฐบาล ซึ่งหากมองในด้านของมูลค่าไทยมีมูลค่าของเศรษฐกิจนอกระบบอยู่ที่ 8.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 48.4% เมื่อเทียบกับ GDP ทั้งประเทศ มากเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย โดยในส่วนนี้ไม่ได้นับรวมอยู่ใน GDP ของไทย และทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลงไปด้วยเช่นกัน ปัญหานี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะในด้านการจัดการเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อลดช่องว่างรายได้และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาการเงินการคลังและเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
รูปที่ 5: ดัชนีความพยายามในการเรียกเก็บภาษี
ที่มา: จากรายงาน World Bank
ไม่เพียงแค่นั้นฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Base) หมายถึงมูลค่ารวมของการขายสินค้าและบริการที่นำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเกณฑ์การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Registration Threshold) ถูกกำหนดตามกฎหมายของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน เกณฑ์การจดทะเบียน VAT กำหนดไว้ที่ 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 1.5 แสนบาท
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยกับประเทศในกลุ่ม OECD และประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย พบว่าฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยอยู่ในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์การกระจายตัวของกลุ่มธุรกิจที่อยู่ใกล้กับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ พบว่ามีการกองตัวกันของธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงแรงจูงใจของธุรกิจที่ไม่ต้องการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
สาเหตุสำคัญที่ธุรกิจบางกลุ่มหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมี 3 ประการหลัก ได้แก่:
- สัดส่วนการพึ่งพาสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods)
ธุรกิจที่พึ่งพาสินค้าขั้นกลางในกระบวนการผลิตและอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการขอคืนภาษีมากกว่า ในขณะที่ธุรกิจที่ไม่ได้พึ่งพาสินค้าขั้นกลาง หรือพึ่งพาสินค้าที่อยู่นอกระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจไม่ได้รับประโยชน์ในลักษณะนี้ ทำให้ขาดแรงจูงใจในการเข้าสู่ระบบ
- ระดับการแข่งขันในตลาด
การเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต้องเสียภาษีและแบกรับต้นทุนการบริหารจัดการ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้น ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งที่อยู่นอกระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือคู่แข่งที่มีขนาดใหญ่กว่าและสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
- ประเภทของลูกค้า (B2B vs B2C)
ธุรกิจที่ค้าขายกับธุรกิจด้วยกัน (B2B) มักมีแนวโน้มเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่า เนื่องจากลูกค้าประเภท B2B สามารถขอเครดิตภาษีได้ ในขณะที่ธุรกิจที่ค้าขายกับผู้บริโภคโดยตรง (B2C) มักเผชิญแรงกดดันจากผู้บริโภคที่ไม่สามารถขอคืนภาษีได้ ทำให้ธุรกิจเหล่านี้เลือกที่จะอยู่นอกระบบเพื่อลดต้นทุนและรักษาความได้เปรียบในตลาด
ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่รัฐบาลต้องจัดการเพื่อขยายฐานภาษีและเพิ่มความยั่งยืนในระบบการคลังของประเทศ
รูปที่ 6: การกระจายตัวของยอดขายของธุรกิจไทยรอบเกณฑ์การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ที่มา: Muthitacharoen Wanichthaworn and Burong (2021)
หากรอถึงวันที่พร้อม วันนั้นจะไม่มีวันมาถึง
รัฐเพียงต้องการโยนหินถามทาง?
🔎ชวนเบิ่ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ปี 2567 ในอีสานสูงกว่า 24,389 ล้านบาท
อ้างอิง: