การกลับคืนถิ่น ผลของ COVID-19 จะช่วยหรือซ้ำเติมปรากฏการณ์สมองไหลของอีสาน

“จากอีสานบ้านนามาอยู่กรุง จากแดนทุ่งลุยลาย ชัยภูมิบ้านเดิมถิ่นเกิดกาย บ่ได้หมายจากจร”
.
ท่อนเปิดของเนื้อเพลง “คิดถึงทุ่งลุยลาย” ที่ลูกอีสานหลายคนรู้จักและร้องตามกันได้อย่างสนุกสนาน แต่นอกจากทำนองที่ช่วยกระตุ้นให้ทั้งร่างกายขยับแล้ว ก็คงเป็นเนื้อร้องที่ตรงใจใครหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องพลัดถิ่นเพื่อไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในเมืองกรุง
.
ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ตั้งแต่ระลอก 2 เป็นต้นมา ที่ทำให้เราได้เห็นภาพเหตุการณ์แรงงานคืนถิ่นจำนวนมาก ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเรามีการเคลื่อนย้ายประชากรจากภูมิภาคต่าง ๆ เข้าสู่เขตเศรษฐกิจหลัก อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปไม่น้อยเลย
.
เนื่องจากแรงผลักดันทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชากรย้ายถิ่น คือ โอกาสการมีงานทำ รายได้ การศึกษา และฐานะความเป็นอยู่ในภาพรวม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เมื่อเปรียบเทียบการย้ายถิ่นระหว่างจังหวัดแล้ว กรุงเทพฯ จะเป็นพื้นที่ที่มีการย้ายถิ่นเข้าและย้ายถิ่นออกสูงที่สุดในปี 2020 โดยเป็นการย้ายเข้าประมาณ 82,000 คน และย้ายออกประมาณประมาณ 127,300 คน จากผู้ย้ายถิ่นทั้งหมด 1.05 ล้านคน
.
หรือถ้าเทียบการย้ายถิ่นระหว่างภาค ในปีเดียวกันนี้ ภาคอีสานก็ทำสถิติทั้งการย้ายถิ่นเข้าและย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพฯ สูงที่สุดเช่นกัน โดยเป็นการย้ายถิ่นเข้าประมาณ 35,800 คน และย้ายถิ่นออกประมาณ 60,400 คน จากผู้ย้ายถิ่นระหว่างภาค 0.39 ล้านคน (คิดจากผู้ย้ายถิ่นเฉพาะภายในประเทศ 1.02 ล้านคน)
.
ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าการย้ายถิ่นที่ดูจะเป็นเรื่องปกติของมนุษย์นั้น สัมพันธ์กับ “ปรากฏการณ์สมองไหล” อย่างไร ?
.
ก่อนอื่นต้องรู้จักคำว่า สมองไหล (brain drain หรือ human capital flight) เดิมทีใช้นิยามถึงการอพยพ ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี จากทวีปยุโรปไปยังอเมริกาเหนือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
.
ต่อมาปรากฏการณ์นี้ถูกนำมาใช้อธิบายถึงประเทศใดก็ตามที่ต้องสูญเสียคนชั้นมันสมอง ซึ่งมักเป็นการอพยพออกจากประเทศของกลุ่มบุคคลที่มีทักษะหรือความรู้เฉพาะด้าน โดยที่ผ่านมาปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาที่กำลังเผชิญปัญหาไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือแม้กระทั่งอนามัยสิ่งแวดล้อม
.
เมื่อนำมาพูดในบริบทของภูมิภาค ก็จะหมายถึงผู้มีความรู้ความสามารถ ที่ควรจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภูมิภาคนั้น แต่กลับต้องอพยพโยกย้ายไปทำงานหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่อื่น ซึ่งปรากฏการณ์สมองไหล มักถูกตีความว่าเป็นการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้อพยพบางส่วนก็นำทักษะความรู้ต่าง ๆ ที่รัฐบาลหรือบริษัทเอกชนเป็นฝ่ายสนับสนุนไปด้วย ทำให้ต้องเสียเงินทุนและเวลาในการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้นมาใหม่
.
แม้ในสถานการณ์ COVID-19 จะทำให้แรงงานกลับคืนถิ่นจำนวนมาก แต่หากเราลองเจาะดูในมิติเซ็กเตอร์จะพบว่า แรงงานกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักคือแรงงานที่ทำงานในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร
.
สอดคล้องกับผลสำรวจด้านอาชีพของผู้ย้ายถิ่นปี 2020 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้จัดทำ โดยกลุ่มใหญ่สุด คือ กลุ่มอาชีพที่ต้องใช้ทักษะปานกลางและต่ำ เช่น อาชีพงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า 1.6 แสนคน รองลงมาเป็นอาชีพพื้นฐาน เช่น คนทำความสะอาด คนงานด้านเกษตรกรรม และคนงานก่อสร้าง 1.05 แสนคน ผู้ปฏิบัติงานฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง 0.97 แสนคน ผู้ปฏิบัติการเครื่องจักรโรงงานฯ 0.83 แสนคน และช่างฝีมือ 0.74 แสนคน ตามลำดับ
.
เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุของผู้ย้ายถิ่นโดยคิดจากกลุ่มอายุเดียวกัน พบว่ากลุ่มที่มีอัตราการย้ายถิ่นมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 15–24 ปี (วัยเยาวชน) ซึ่งมีอัตราการย้ายถิ่นร้อยละ 3.5 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 25-59 ปี (วัยผู้ใหญ่) ร้อยละ 1.6 กลุ่มอายุ 0-14 ปี (วัยเด็ก) ร้อยละ 1.2 และน้อยที่สุดในกลุ่มอายุ 60 ปี ขึ้นไป (วัยสูงอายุ) ร้อยละ 0.3
.
เมื่อพิจารณาผู้ย้ายถิ่นที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2.3 แสนคน (คิดเป็นร้อยละ 25 ของผู้ย้ายถิ่นทั้งหมด) รองลงมาเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2.2 แสนคน (ร้อยละ 23.9) ระดับประถมศึกษา 1.8 แสนคน (ร้อยละ 19.6) ระดับอุดมศึกษา 1.2 แสนคน (ร้อยละ 13.0) ระดับต่ำกว่าประถมศึกษาและไม่มีการศึกษา 1.1 แสนคน (ร้อยละ 12.0) ระดับอาชีวศึกษา (ปวช./ปวส.) 0.4 แสนคน (ร้อยละ 4.3) และที่เหลือกระจายอยู่ในระดับการศึกษาอื่น ๆ และไม่ทราบการศึกษา
.
อีกทั้งแรงงานกลุ่มใหญ่นี้ ส่วนหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์จึงไม่สามารถดำรงชีพในบางพื้นที่ได้ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจหลักที่มีค่าครองชีพสูง ต่างจากกลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะสูง (หรือในบทความเรียกคนชั้นมันสมอง) ที่ส่วนใหญ่ยังสามารถรับมือกับผลกระทบนี้ได้ โอกาสการย้ายออกจากเขตเศรษฐกิจหลักเพื่อกลับคืนถิ่นจึงน้อยกว่า
.
จึงพอสรุปได้ว่า การเกิดขึ้นของ COVID-19 ไม่ได้ช่วยบรรเทาภาวะสมองไหลของอีสาน แต่ดูเหมือนจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานไทย (รวมถึงภาคอีสาน) ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เนื่องจากประชากรที่ย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนากลุ่มใหญ่สุดยังคงเป็นเยาวชนที่อยู่ในสายงานที่ใช้ทักษะปานกลางและต่ำอยู่
.
ซึ่งเทรนด์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน ดูจากรายงานของ ILO ที่ชี้ว่าแรงงานเยาวชนส่วนใหญ่ทำงานในธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และค้าปลีกมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างหรือได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 สูง
.
ดังนั้น ท้องถิ่นจึงควรมองปัญหานี้เป็นเหมือนปฏิกิริยาเร่งให้ตัวเองต้องรีบปรับโครงสร้างการพัฒนาให้เข้มแข็งโดยเร็ว ซึ่งอาจจับมือกับภาคเอกชนเพื่อสร้างงานในระยะสั้น ขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาศักยภาพเมืองในระยะยาว เช่น การลงทุนด้านสาธารณสุข การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาอาชีพ พัฒนาทักษะแรงงาน (อัพสกิล-รีสกิล) รวมถึงการพัฒนาระบบสวัสดิการแรงงานเป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้แรงงานที่อาจต้องตกงานเป็นเวลานาน โดยต่อยอดกับทุนเดิมด้านการเกษตร ทุนภูมิปัญญา ทุนวัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
.
.
หมายเหตุ : ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างตุลาคม – ธันวาคม 2020
.
#ISANInsightAndOutlook
.
.
เรียบเรียงจาก :
http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านสังคม/สาขาประชากร/การย้ายถิ่น/2563/report_Migration_63.pdf
https://www.bot.or.th/…/DocLib_/Article_27Apr2021.pdf
https://www.blockdit.com/posts/5e4932ee7e39de0caeaecbe8
https://www.bot.or.th/…/DocLib_/Article_25May2021-2.pdf

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top