ภูเวียงพบฟอสซิล”ไดโนเสาร์ตัวใหม่” ลุ้นขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ใหม่ของโลก! และ ไดโนเสาร์สายพันธุ์ที่ 14 ของไทย

ปัจจุบัน ไทย มีสายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบเฉพาะในไทยมากถึง 13 สายพันธุ์ ลุ้นสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งขุดเจอ

ไดโนเสาร์ไทย 13 สายพันธุ์
1) ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae)
2) สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus suteethorni)
3) สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis)
4) ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacosaurus sattayaraki)
5) อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (Isanosaurus attavipachi)
6) กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus khomkaenensis)
7) สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami)
8 ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae)
9) สิรินธรนา โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis)
10) ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ (Phuwiangvenator yaemniyomi)
11) วายุแรปเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส (Vayuraptor nongbualamphuensis)
12) สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ (Siamraptor suwati)
13) มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (Minimocursor phunoiensis)

 

หัวข้อที่น่าสนใจ

🕰️ เริ่มขุดค้นฟอสซิลใหม่หลังหยุดไป 30 ปี
🦴 พบชิ้นส่วนกระดูกใหญ่กว่าภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่
🌍 คาดว่าเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยพบ
 🔬 ทีมนักวิจัยเร่งค้นคว้าในหลุมขุดที่ 3
💪 โครงกระดูกน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง

ทีมนักวิจัยเร่งขุดฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 6 ของภูเวียง ซึ่งทราบชัดเจนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกด้วย เพราะมีความแตกต่างหลายอย่างจากที่มีการค้นพบทั่วโลก ตัวใหญ่กว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ กระดูกใหญ่กว่าถึง 2 เท่า ความยาวไม่น้อยกว่า 20 เมตร  (Video)

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 ต.ค.2567 ที่อาคารคลุมหลุมขุดที่ 3 ตั้งอยู่บริเวณห้วยประตูตีหมา อุทยานแห่งชาติภูเวียง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ดร.วราวุธ สุธีธรผู้เชี่ยวชาญด้านการขุดฟอสซิล และเป็นคนแรกของประเทศไทยที่เริ่มต้นขุดฟอสซิล พร้อมด้วย นายสุธรรม วงษ์จันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียง และทีมนักวิจัยเรื่องฟอสซิลไดโนเสาร์ เร่งขุดหาฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นส่วนต่างๆหลังพบว่าเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของภูเวียงตัวที่ 6 และลุ้นที่จะพบเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกด้วย โดยการขุดฟอสซิลไดโนเสาร์ในหลุมขุดที่ 3 นี้มีการเริ่มต้นขุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาหลังจากหยุดขุดไป 30 ปี หลังจากขุดพบและคาดว่าจะเป็นกลุ่มเดียวกับภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ ที่เคยขุดพบตัวแรกของภูเวียงและเป็นไดโนเสาร์ในคำขวัญประจำจังหวัดขอนแก่นด้วย ซึ่งความคืบหน้าในการขุดฟอสซิลไดโนเสาร์นั้น พบชิ้นส่วนกระดูกสันหลังส่วนกลางตัว กระดูกสันหลังส่วนคอ กระดูกซี่โครง ฟัน แต่ยังไม่พบชิ้นส่วนขาหน้าและขาหลัง คาดว่าจะอยู่ลงลึกไปอีก แต่ด้วยอุปสรรคเป็นหินที่แข็งจึงต้องใช้ความพยายามและความอดทนในการขุดอย่างต่อเนื่อง และหลุมขุดที่ 3 นี้ อยู่ห่างจากจุดที่นักสำรวจเเร่ ยูเรเนี่ยม เข้ามาเจอกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ.2519 ไม่ถึง 200 เมตร

ดร.วราวุธ สุธีธร อายุ 76 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านการขุดฟอสซิล ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ไดโนเสาร์ตัวที่อยู่ในหลุมขุดที่ 3 นี้ เราทราบชัดเจนว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด จำพวกกินพืช โดยคาดว่าจะเป็นกลุ่ม ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ ที่เคยขุดพบ จึงได้หยุดขุดไป 30 ปี กระทั่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดร.สุรเวช สุธีธร ซึ่งเป็นลูกชายและมีความสนใจเช่นเดียวกัน ได้ไปศึกษาเรียนจบกลับมา และพอมาดูรายละเอียดกระดูกบางชิ้นพบว่ามีความต่างจากภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ เราจึงได้เริ่มโปรเจคอีกครั้ง โดยได้งบประมาณจากกองทุนซากดึกดำบรรพ์มาเริ่มต้นขุดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากหยุดขุดไป 30 ปี โดยมีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญหลายคนมาช่วยกันขุด แต่อุปสรรคเนื่องจากสภาพหินแข็งมาก แต่ก็ยังพอที่จะขุดลงลึกไปได้จนขณะนี้พบกระดูกหลายๆชิ้นโผล่ขึ้นมามีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจากที่ปีแรกเราสงสัยว่าตัวนี้ไม่น่าจะใช่ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ เนื่องจากกระดูกหลายๆชิ้นที่ขุดพบนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก กระทั่งเป็นคนละกลุ่มกับสายพันธุ์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ และมีความใกล้เคียงกับกลุ่มอื่นๆ และก็มีส่วนคล้ายกับแบรคิโอซอรัส ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่และรูปร่างต่างจากภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่อย่างมาก โดยกระดูกที่ค้นพบนั้นจะมีลักษณะเด่นเฉพาะหลายๆอย่าง ทั้งขนาดที่ใหญ่กว่าถึง 2 เท่า ลักษณะกระดูกซึ่งมีขนาดใหญ่มีการลดน้ำหนักต่างจากภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่คือ จะมีโพรงในกระดูกสูงมาก เพื่อที่จะทำให้กระดูกมีน้ำหนักเบาและแข็งแรง ในการจะเป็นกระดูกขนาดใหญ่และน้ำหนักไม่มากเกินไป และก็เจอจากกระดูกหลายชิ้นที่ขุดพบ ณ ขณะนี้ จึงมั่นใจว่าจะเป็นไดโนเสาร์ที่ขุดพบสายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 6 ของภูเวียง และจากชิ้นส่วนหลายๆชิ้นที่เราพบนั้นก็จะนำไปศึกษารายละเอียดเปรียบเทียบในกลุ่มแบรคิโอซอรัสว่าจะอยู่ตรงไหนในกลุ่มเดียวกัน และมีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราก็จะสามารถสรุปได้ว่าเป็นตระกูลใหม่ หรือชนิดใหม่ของโลกด้วยหรือไม่ ตอนนี้ความเป็นไปได้สูงที่ไดโนเสาร์ตัวนี้จะเป็นสายพันธุ์ใหม่และเป็นกลุ่มใหม่ของโลกด้วย แต่จะต้องมีการศึกษารายละเอียดที่มีการค้นพบอยู่แล้วในโลกนี้ ซึ่งรายละเอียดแตกต่างมากน้อยแค่ไหน หากมีความแตกต่างมากก็จะเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกได้

ตอนนี้ที่เราขุดพบนั้น มองเห็นเกินครึ่งของแต่ละชิ้นแล้ว และมีโอกาสที่จะเพียงพอในการศึกษา แต่เราก็ยังอยากได้ในหลายๆส่วนที่สำคัญเช่นหัวกะโหลก ตอนนี้เราได้ฟันของตัวนี้มาแล้วหลายชิ้น ซึ่งมีนัยยะสำคัญอย่างมาก ซึ่งที่เรามีอยู่นี้ก็มากพอสมควร ซึ่งตอนนี้เราพบชิ้นส่วนกระดูกสันหลังส่วนกลางตัว กระดูกสันหลังส่วนคอ กระดูกซี่โครงที่มีขนาดใหญ่มาก โดยเราเปรียบเทียบกับชิ้นส่วนที่เราเคยขุดพบมาแล้วจะใหญ่มากกว่า 2 เท่า ซึ่งยืนยันแล้วว่าต่างจากที่เราพบมาแล้วทั้งหมด และมีลักษณะโครงสร้างที่มีโพรงในกระดูกแตกต่างกันชัดเจน ส่วนความยาวของตัวไม่น้อยกว่า 20 เมตร จากขนาดของกระดูก ขาหน้าสูงใหญ่ต่างจากภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่อย่างมาก ตอนนี้เรายังไม่เจอกระดูกขาหน้าขาหลังถ้ามีพวกนี้ประกอบก็จะทำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ด้าน นายสุธรรม วงษ์จันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเวียง ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ตั้งเเต่การพบฟอสซิลชิ้นเเรกในปีพ.ศ. 2519 มาจนถึงปัจจุบัน เทือกเขาภูเวียงมีการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกถึง 5 ชนิด และในหลุมขุดที่ 3 นี้รอลุ้นว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ตัวที่ 6 ของโลกด้วยหรือไม่ โดยฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ทีมนักวิจัยขุดพบทั้งหมดถูกนำมาจัดเเสดงอยู่ที่ ศูนย์ศึกษาวิจัยเเละพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ภายใต้การดูเเลของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งการขุดค้นเเละศึกษาวิจัย ยังดำเนินต่อไป ภายใต้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งจากกรมทรัพยากรธรณี กรมอุทยานฯ สถาบันการศึกษา รวมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนเเก่น ที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย พยายามผลักดันให้พื้นที่อุทยานธรณีขอนเเก่น หรือ “ขอนเเก่น จีโอพาร์ค” ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลก โดยการรับรองจากองค์การยูเนสโก ซึ่งรอการประกาศในอีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ ซึ่งจะสอดรับกับฟอสซิลที่ขุดพบพอดี และในทุกๆวันจะมีนักท่องเที่ยวมาชมการขุดฟอสซิลศึกษาเส้นทางธรรมชาติทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่นนี้ก็ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาศึกษาชมธรรมชาติได้ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง ซึ่งจะมีลานกางเต็นท์และจุดชมวิวที่ผาชมตะวันรวมทั้งมีน้ำตกให้เล่นอีกด้วย

ปัจจุบัน อุทยานแห่งชาติภูเวียง ขอนแก่น มีซากฟอสซิล ไดโนเสาร์ “ 5 ตัว 5 สายพันธุ์” ได้แก่

1. ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (น้องโย่ง)
2. สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (น้องดุ)
3. สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (น้องแข่)
4. กินนารีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (น้องเปรียว)
5. ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ (น้องแร๊พ)
หากการค้นพบครั้งนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่จริง และขึ้นทะเบียนสำเร็จ จะกลายเป็น สายพันธุ์ที่ 6 ของอุทยานแห่งชาติภูเวียงแห่งนี้

 

ที่มา :

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top