ใครว่าภาคอีสานจนสุด เมื่อภาพจำไม่ตรงกับสถิติ ภาคอีสานภูมิภาคที่มีการลดลงของความเหลื่อมล้ำมากที่สุด และยังมีสัดส่วนคนจนน้อยกว่าภาคใต้

ภาคใต้ ภาคอีสาน Top 2 ภูมิภาคที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด แต่ภาคอีสานกลับมีการลดลงของความเหลื่อมล้ำมากที่สุด

ในปี 2566 ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ออกรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความอยากจน และความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย 2566 ออกมา ซึ่งเป็นรายงานที่ออกเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว โดยในปี 2566 นี้ภาพรวมสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ โดยในด้านของจำนวนคนจนลดลงจาก 3.79 ล้านคน ในปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 5.43 ลดลงมาอยู่ที่ 2.39 ล้านคน ในปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 3.41 ผลจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดในประเทศ สอดคล้องกับค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคทางด้านรายได้ที่ลดลงจาก 0.43 ในปี 2564 มาอยู่ที่ 0.42 ในปี 2566 แสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านรายจ่ายที่ลดลง เป็นไปในทิศทางเดียวกับสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคทางด้านรายได้ที่ลดลงจาก 0.343 ในปี 2565 มาอยู่ที่ 0.335 ในปี 2566 แสดงให้เห็ยความไม่เสมอภาคทางด้านรายจ่ายนั้นลดลงแม้จะเพียงแค่เล็กน้อยก็ตาม  แต่ก็ยังคงมีจุดที่น่าเป็นกังวลอยู่ในด้านของกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นคนจนที่ต้องเผชิญกับปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในมิติต่างๆ ทั้งด้านการประกอบอาชีพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในพื้นที่นอกเขตเทศบาลจะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่เขตเทศบาลอย่างชัดเจน โดยในปี 2566 นี้เส้นความยากจนได้มีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 2,997 บาท/คน/เดือน ในปี 2565 ขึ้นเป็น 3,043 บาท/คน/เดือน อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อครัวเรือนยากจนนั้นคือขนาดขางครัวเรือนที่ยิ่งครัวเรือนนาดใหญ่จะยิ่งมีความยากจนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากครัวเรือนนั้นเป็นครัวเรือนแหว่งกลางที่ขาดบุคคลในครอบครัวที่ต้องออกไปทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูทุกคนในครอบครัว ทั้งนี้อัตราการพึ่งพิงของครัวเรือนยากจนจะมีสูงกว่าครัวเรือนปกติอยู่ที่ร้อยละ 103.39 เมื่อเทียบกับครัวเรือนปกติที่ร้อยละ 62.34

กราฟที่ 1 เส้นความยากจน สัดส่วนคนจน และจำนวนคนจน ปี 2555 – 2566

ที่มา : ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

เส้นความยากจน เป็นเครื่องมือสำหรับใช้วัดภาวะความยากจน โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายสำหรับอาหาร สินค้าและบริการอื่นที่ไม่ใช่อาหารที่ปัจเจกบุคคลจำเป็นต้องใช้ในการดำรงค์ชีวิตขั้นพื้นฐาน

อัตราการพึ่ง อัตราส่วนของประชากรที่อยู่ในกลุ่มอายุนอกวัยแรงงานต่อประชากรในวัยแรงงาน โดยมีข้อสมมติว่า ประชากรที่อยู่ในกลุ่มอายุนอกวัยแรงงานนั้นต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ

ครัวเรือนแหว่งกลาง ครัวเรือนที่มีสมาชิกรุ่นปู่ย่า หรือตายาย อาศัยอยู่กับรุ่นหลานในวัยเด็ก โดยขาดสมาชิกรุ่นพ่อแม่ ซึ่งมักย้ายถิ่นฐานไปทำงาน

 

สำหรับสถานการณ์ในภาคอีสานนั้นจะเห็นได้ว่าภาคอีสานเป็นภาคที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศที่ร้อยละ 4.16 เป็นรองภาคใต้ที่ร้อยละ 7.48 แต่เมื่อพิจารณาเป็นจำนวนคนจะพบว่าภาคอีสานนั้นเป็นภาคที่มีจำนวนคนจนมากที่สุดในประเทศที่ประมาณ 7.58 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 31.71 ของคนจนทั้งหมด รองลงมาคือภาคใต้ที่ประมาณ 7.33 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 30.65 ห่างจากภาคอีสานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

กราฟที่ 2 สัดส่วนคนจน จำแนกรายภาค ปี 2555 – 2566

ที่มา : ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

เมื่อพิจารณาสัดส่วนคนจนรายจังหวัด 10 อันดับแรงจะเห็นได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจังหวัดที่เป็นอันดับหนึ่งของภาคอีสานนั้นจะเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์มาโดยตลอด แต่ในปี 2566 นั้นจังหวัดกาฬสินธุ์ได้หายไป และจังหวัดที่ขึ้นมานั้นเป็นจังหวัดหนองบัวลำภูแทน เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดนั้นอาจจะสามารถคาดเดาการที่จังหวัดกาฬสินธุ์หลุดพ้นจาก 10 อันดับแรกนั้นเป็นเพราะส่วนหนึ่งที่มาจากการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคเกษตรกรรม และอีกส่วนหนึ่งคาดว่าจากการท่องเที่ยวภายในจังหวัดที่มีแนวโน้มของผู้เยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และเชิงวัฒนธรรมต่างๆ และหากมองกลับมาที่จังหวัดหนองบัวลำภูจะเห็นได้ว่าจังหวัดที่ล้อมตัวหนองบัวลำภูอยู่นั้นล้วนเป็นจังหวัดที่เศรษฐกิจดีกว่าหนองบัวลำภูทั้งนั้น อีกทั้งจังหวัดหนองบัวลำภูนั้นมีสถานะเหมือนเป็นแอ่งที่อยู่ตรงกลางหากคนจะขับรถผ่านนั้นสามารถใช้เส้นทางของจังหวัดอื่นผ่านโดยไม่จำเป็นต้องผ่านจังหวัดหนองบัวลำภูได้ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดหนองบัวลำภูไม่ได้โตโดดเด่นเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น และเป็นจังหวัดที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) น้อยเกือบที่สุดในภาคอีสาน แต่หากมองโดยภาพรวมแล้วนั้นถือว่าสถานการณ์ความยากจนในระดับจังหวัดปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ตารางที่ 1 รายชื่อจังหวัด 10 อันดับจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุด ปี 2555 – 2566

ที่มา : ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนกับสัดส่วนคนจนรายจังหวัด พบว่าส่วนใหญ่จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนสูงมักจะมีสัดส่วนคนจนต่ำ ขณะที่จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำจะมีสัดส่วนคนจนสูง สอดคล้องกับแนวคิดการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีบ้างจังหวัดที่ไม่เป็นไปตามความสัมพันธ์นี้ เช่น จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนค่อนข้างสูงแต่กลับมีสัดส่วนคนจนสูงเช่นกัน เช่น นครศรีธรรมราช อ่างทอง ลำปาง เป็นต้น และในทางกลับกันก็มรจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อข้างต่ำแต่มีสัดส่วนคนจนต่ำ เช่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด เป็นต้น ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยอื่นๆที่มีผล เช่น ปัจจัยด้านความเหลื่อล้ำแฝง

ภาพที่ 1 รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน และสัดส่วนคนจน จำแนกรายจังหวัด ปี 2566

ที่มา : ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

กลับมามองที่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้จะพบว่า ดัชนีความไม่เสมอภาค หรือค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Cofficent) ลดลงจาก 0.430 ในปี 2564  มาอยู่ที่ 0.417 ในปี 2566 สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาวะปัจจุบัน หากมองจำแนกออกมาเป็นในเขตและนอกเขตเทศบาลจะเห็นได้ว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ในเขตเทศบาลก็ยังคงมีเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงกว่านอกเขตเทศบาลเล็กน้อย หากมองในภาพรวมของรายภูมิภาคจะพบว่าภาพรวมนั้นดูดีขึ้น แต่ในแต่ละภูมิภาคนั้นจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย

กราฟที่ 3 ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ จำแนกรายภาค ปี 2531 – 2566

ที่มา : ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

ขณะที่ในด้านของความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายทั่วประเทศนั้นดีขึ้นไปในทิศทางเดียวกับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ทั้งในด้านของภายในเขตและนอกเขตเทศบาล และในด้านของค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค โดยค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายจ่ายลดลงจาก 0.343 ในปี 2565 มาอยู่ที่ 0.335 ในปี 2566 ส่วนหนึ่งที่ภาคอีสานมีสัดส่วนลดลงมากเนื่องจากภาคอีสานเป็นภาคที่มีเกษตรกรเยอะและการปรับตัวดีขึ้นของภาคการเกษตรจึงส่งผลดีต่อทุกๆด้านของเกษตรกร แม้ว่าประชากรที่มีรายได้รายจ่าต่ำจะมีส่วนแบ่งการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นการเพิ่มในส่วนของสินค้าเพื่อการยังชีพและการดำรงชีวิตเป็นหลัก

กราฟที่ 4 ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่าย จำแนกรายภาค ปี 2531 – 2566

ที่มา : ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

กราฟที่ 5 ส่วนแบ่งรำยได้ของประชำกร จำแนกเป็น 10 กลุ่มตามระดับรายได้ (Decile by Income) ปี 2537 – 2566 

ที่มา : ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ในภาพรวมในด้านของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นในทุกๆปี เพียงแต่เมื่อพิจารณาในด้านของตัวรายได้ของกลุ่มคนที่มีรายได้มากกับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยจะพบว่าส่วนแบ่งรายได้ของกลุ่มที่มีรายได้สูงยังคงอยู่ในระดับที่สูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของผู้ที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 10 ที่กินส่วนแบ่งรายได้ไปถึงร้อยละ 32.42 ของคนทั้งประเทศ ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดมีส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 2.33 เท่านั้น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เท่าเทียมในด้านของการกระจายรายได้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหากันต่อไป

โดยในปี 2566 นี้ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีการจัดทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมในรูปแบบของความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ (Spatial Autocorrelation) เพื่อหาความสัมพันธ์ของข้อมูลระหว่างตำแหน่งต่างๆบนแผนที่ในระดับบริเวณอย่างเฉพาะเจาะจง จากผลการวิเคราะห์ของ สศช. พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัดทั้งหมดมีแนวโน้มในการมีรูปแบบความสัมพันธ์แบบกลุ่ม (Cluster) โดยรูปแบบความสัมพันธ์เชิงพื้นที่นี่มีประมาณ 45 จังหวัดจากทั่วประเทศ ทาง สศช. ได้จำแนกกลุ่มความสัมพันธ์ออกเป็น 4 กลุ่มได้แก่ 1. High – High (HH) คือจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนสูงและมีจังหวัดใกล้เคียงที่มีรายได้ต่อคนสูง 2. Low – Low (LL) คือจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำและมีจังหวัดใกล้เคียงที่มีรายได้ต่อคนต่ำ 3. Low – High (LH) คือจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำและมีจังหวัดใกล้เคียงที่มีรายได้ต่อคนสูง

และ 4. High – Low (HL) คือจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนสูงและมีจังหวัดใกล้เคียงที่มีรายได้ต่อคนต่ำ

 

ภาพที่ 2 การจัดกลุ่มจังหวัดตามรูปแบบความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ โดย LISA

ที่มา : รวบรวมและประมวลผลโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

จากภาพจะเห็นได้ว่าจังหวัดในรูปแบบ HH นั้นจะอยู่บริเวณกรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และ EEC เป็นหลัก ขณะหากมองมาที่ภาคอีสานจะเห็นได้ว่าภาคอีสานทั้งหมดนั้นอยู่ในกลุ่ม LL ทั้งสิ้นเนื่องจากความเป็นไปได้ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในรูปแบบพึ่งพิงและแลกเปลี่ยนทรัพยากรเป็นไปได้ยาก เพราะโอกาสทางเศรษฐกิจไม่สูงมากนัก ซึ่งหากดูสัดส่วนคนจนในแต่ละกลุ่มพื้นที่จะพบว่ากลุ่ม LH, LL และกลุ่มจังหวัดที่ไม่มีความสัมพันธ์จะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุด และกลุ่ม HH, HL จะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนคนจนน้อยที่สุด ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ของกลุ่ม HH อยู่ที่ 15,160 บาทต่อคนต่อเดือน กลุ่ม HL อยู่ที่ 10,357 บาทต่อคนต่อเดือน กลุ่ม LH อยู่ที่ 9,283 บาทต่อคนต่อเดือน กลุ่ม LL อยู่ที่ 8,237 บาทต่อคนต่อเดือน และกลุ่มจังหวัดที่ไม่มีความสัมพันธ์จะอยู่ที่ 9,269 บาทต่อคนต่อเดือน จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์และไปในทิศทางของกลุ่มนั้นมีความเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มจังหวัด ความเหลื่อมล้ำ และความจน

 

โดยสรุปแล้วสำหรับภาคอีสาน ในปี 2566 ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรยากจนมากที่สุดในประเทศ โดยมีประชากรยากจนประมาณ 758,000 คน คิดเป็นร้อยละ 31.71 ของจำนวนคนจนทั้งหมดของประเทศ แม้สัดส่วนคนจนของภาคอีสานที่ร้อยละ 4.16 จะเป็นอันดับสองรองจากภาคใต้ที่ร้อยละ 7.48 แต่เมื่อพิจารณาในแง่จำนวนคนจน ภาคอีสานยังคงสูงสุดในประเทศ จังหวัดหนองบัวลำภูขึ้นแทนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ในฐานะจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุดในภาคอีสาน ปัจจัยที่ทำให้จังหวัดกาฬสินธุ์พ้นจากอันดับนี้น่าจะมาจากการเติบโตของภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจของหนองบัวลำภูยังไม่เติบโตโดดเด่นเท่าจังหวัดอื่น ๆ ในภูมิภาค และจากการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ ภาคอีสานทั้งหมดถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Low-Low (LL) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำ และมีจังหวัดใกล้เคียงที่มีรายได้ต่ำเช่นกัน สะท้อนถึงข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในภาคอีสาน ทั้งนี้แม้ว่าภาพรวมจะมีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยซึ่งส่วนหนึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวที่ดีขึ้นในทุกๆปีอยู่แล้ว กับปัจจัยสนับสนุนในด้านของภาคเกษตรกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาคอีสานที่มีจำนวนเกษตรกรเยอะ แต่ในอนาคตก็ยังคงต้องติดตามต่อไปว่าจะปรับตัวดีขึ้นมากน้อยเพียงใด หรือเพียงแค่จะปรับตัวดีขึ้นทีละน้อยอย่างที่เป็นมาเสมอ

ในด้านของความเหลื่อมล้ำ พบว่าเมื่อแนวโน้มความยากจน ทั้งด้านรายได้และรายจ่าย ปรับตัวลดลง ก็เป็นที่แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆจะลดลงตามไปด้วย ภาคอีสานเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการลดลงของความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคอีสานที่มีเกษตรกรจำนวนมาก ทำให้การพัฒนาในภาคการเกษตรย่อมส่งผลดีต่อเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ที่อาศัยในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน แม้ว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจะลดลง แต่หากพิจารณาสัดส่วนรายได้ระหว่างกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุดและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่สุด ยังคงพบความแตกต่างอย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาในการกระจายรายได้ที่ยังคงต้องได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ ปัญหานี้ไม่ใช่เพียงเรื่องของบุคคลหรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในระดับกลุ่มจังหวัด โดยจังหวัดในภาคอีสานถูกจัดอยู่ในกลุ่ม LL ซึ่งมีผลกระทบต่อการพัฒนาและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ทั้งนี้ จังหวัดในกลุ่ม LL มักได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของจังหวัดใกล้เคียงเช่นกัน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top