พามาเบิ่ง อัตราค่าจ้างรายอาชีพในภาคอีสาน

สถิติค่าจ้างรายอาชีพของกรมจัดหางาน พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีสถิติค่าจ้างสูงสุดโดยแบ่งเป็น รายชั่วโมง 160 บาท รายวัน 850 บาท รายเดือน 300,000 บาท และต่ำสุดอยู่ที่ 8,550 บาทต่อเดือน ในส่วนของภาคอีสานนั้นในเป็นภาคที่มีรายได้สูงสุดต่ำที่สุดในประเทศอยู่ที่ 120,000 บาทต่อเดือน และหากมองเป็นรายได้เฉลี่ยต่อเดือนภาคอีสานก็ยังคงเป็นภาคที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภาคเช่นกันอยู่ที่ 12,510 บาทต่อเดือน

 

ถ้าเรามาดูในส่วนของรายได้เฉลี่ยตามหมวดอาชีพในภาคอีสาน 3 อันดับแรกที่มีรายได้เฉลี่ยสูงสุดในภาคอีสาน ได้แก่

  1. ผู้จัดการ/เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส ≈ 16,601 บาทต่อเดือน
  2. ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ ≈ 14,767 บาทต่อเดือน
  3. ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ≈ 12,294 บาทต่อเดือน

จะเห็นได้ว่าแม้รายได้สูงสุดของกลุ่มอาชีพนี้จะสูงมากแค่ไหนในส่วนของรายได้เฉลี่ยของคนส่วนใหญ่ที่ได้นั้นก็ยังคงอยู่เพียงแค่หลักหมื่นต้นๆเท่านั้น มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นกลุ่มผู้มีประสบการณ์และความชำนาญสูงเท่านั้นที่จะได้ค่าจ้างสูงตามเพดานของอาชีพนั้นๆ

 

สำหรับอาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงที่สุดในประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. นักวิเคราะห์การเงิน ≈ 47,225 บาทต่อเดือน
  2. ผู้บริหารระบบงานคอมพิวเตอร์ ≈ 37,588 บาทต่อเดือน
  3. นักวิเคราะห์และพัฒนาซอฟต์แวร์และโปรแกรมประยุกต์  ≈30,225 บาทต่อเดือน
  4. นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ≈ 29,110 บาทต่อเดือน
  5. นักวิเคราะห์ด้านการบริหารและองค์การ ≈ 27,337 บาทต่อเดือน

เมื่อเรามองดูกลุ่มอาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงนั้นจะพบว่า ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นอาชีพเฉพาะทางที่อาศัยประสบการณ์ในการทำงานสูง โดยอาชีพ 3 ใน 5 นั้นเป็นอาชีพที่อยู่ในความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอาชีพที่มีกระแสมาแรงและความต้องการของทั่วโลกในบริษัทใหญ่ๆ มีสูงเช่นกัน

 

ในส่วนของอาชีพที่มีความต้องการมากที่สุดในประเทศไทย 5 อันดับแรกนั้น ได้แก่

  1. พนักงานขายในศูย์บริการลูกค้า มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 13,975 บาท
  2. เสมียนทั่วไป มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 14,470 บาท
  3. ตัวแทนขายด้านการค้า มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 18,405 บาท
  4. ผู้ประกอบวิชาชีพด้านโฆษณาและการตลาด มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 18,929 บาท
  5. เสมียนด้านบัญชี มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 15,107 บาท

จะเห็นได้ว่าอาชีพส่วนใหญ่ที่มีความต้องการสูงในตลาดแรงงานนั้น 3 ใน 5 จะเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริการลูกค้าและการตลาด จะไม่ใช่อาชีพที่อาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหมือนกลุ่มอาชีพที่ค่าจ้างสูง แต่เป็นอาชีพที่มีความต้องการของตลอดแรงงานสูง ขณะที่รายได้นั้นอยู่ในเกณฑ์ทั่วไป

จากรายงานพบว่าภาคอีสานเป็นภาคที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำที่สุดในประเทศ แม้ว่าจะมีจำนวนแรงงานมากเป็นอันดับสองของประเทศก็ตาม อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ในภาคอีสานทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่สูง เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายและรายได้ของกลุ่มคนในภาคเกษตรกรรม จะเห็นได้ว่ารายได้จากการทำเกษตรกรรมไม่สูงนัก เนื่องจากต้องรอผลผลิตตามฤดูกาล ในระหว่างนั้น แรงงานเกษตรต้องหารายได้เสริมจากอาชีพอื่นเพื่อเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ เมื่อมีรายได้จากการขายผลผลิตเกษตร ส่วนใหญ่จะต้องนำไปชำระหนี้สินที่เกิดจากต้นทุนการผลิต ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้ รายได้เฉลี่ยของภาคอีสานจึงไม่สูงนัก

หากพิจารณาด้านความหลากหลายของอาชีพที่เป็นงานประจำ จะพบว่าไม่เพียงแต่ภาคอีสานเท่านั้น แต่ภาคอื่นๆ นอกเหนือจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็มีความหลากหลายทางอาชีพน้อยเช่นกัน เมื่อดูจากเว็บไซต์หางานต่างๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัด จะพบว่าอาชีพที่ตลาดต้องการส่วนใหญ่ ได้แก่ พนักงานขาย, การตลาด, พนักงานขับรถ, ช่างก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษาสูง ทำให้ค่าตอบแทนหรือเงินเดือนไม่สูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีอาชีพที่ต้องอาศัยวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ เช่น ผู้จัดการ/ผู้ช่วยผู้จัดการ, วิศวกร, พนักงานบัญชี ซึ่งมีฐานเงินเดือนสูงกว่าอาชีพทั่วไป แต่ในหลายกรณีความแตกต่างของค่าตอบแทนระหว่างสองกลุ่มนี้อาจไม่มากนัก และด้วยจำนวนความต้องการจ้างงานของอาชีพที่ไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษาสูงมีมากกว่า จึงส่งผลให้ค่าจ้างเฉลี่ยในภาคอีสานไม่สูงมาก นอกจากนี้ หากไม่นับกลุ่มข้าราชการหรือพนักงานราชการที่มีความหลากหลายทางอาชีพมากกว่า แต่เปิดรับสมัครงานและมีความต้องการจ้างงานในอัตราที่ต่ำกว่า ก็ยิ่งสะท้อนถึงปัญหาของรายได้ในภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

สำหรับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นมาในปี 2565 นั้นสอดคล้องกับค่าจ้างต่ำสุดรายวันของกรมจัดหางานในปี 2566 ที่ 328 บาท โดย ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไป 1 รอบโดยมีปรับ ดังนี้

  • นครราชสีมา 340 352
  • ขอนแก่น 340 350
  • หนองคาย 340 348
  • นครพนม 335 345
  • บุรีรัมย์ 335 345
  • มุกดาหาร 338 345
  • สกลนคร 338 345
  • อุบลราชธานี 340 345
  • สุรินทร์ 335 344
  • ยโสธร 335 343
  • กาฬสินธุ์ 338 342
  • บึงกาฬ 335 342
  • ร้อยเอ็ด 335 342
  • ชัยภูมิ 332 341
  • มหาสารคาม 332 340
  • เลย 335 340
  • ศรีสะเกษ 332 340
  • หนองบัวลำภู 332 340
  • อำนาจเจริญ 332 340
  • อุดรธานี 328 340

โดยในสิ้นปี 2567 นี้ทางรัฐบาลมีความพยายามที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันอีกรอบหนึ่ง ทั้งนี้ต้องคอยติดตามว่าหากทางรัฐบาลจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วผลตอบรับจากทางภาคธุรกิจและประชาชนจะไปในทิศทางใดและจะมีการตอบสนองออกมาอย่างไรในอนาคต

 

อ้างอิงจาก

กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน, กองเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top