พามาฮู้จัก “กลุ่มชาติพันธุ์” กระจายอยู่ไหนบ้างในอีสาน

พามาฮู้จัก “กลุ่มชาติพันธุ์” กระจายอยู่ไหนบ้างในอีสาน

.

.

ประเทศไทยมี 60 กลุ่มชาติพันธุ์ มี 4,011 ชุมชน หรือราว 6.1 ล้านคน

กลุ่มชาติพันธุ์มีจุดเริ่มต้นในทศวรรษที่ 2420 หรือสมัย ร.5 ชนชั้นนำของสยามใช้คำเรียกรวม ๆ ว่า “ชาวป่า” หรือ “คนป่า” โดยสามารถแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ตามการตั้งถิ่นฐานได้ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในป่า เช่น มานิ มลาบรี, กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอบู่บนพื้นที่สูง เช่น กะเหรี่ยง ม้ง อาข่า, กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบ เช่น ไทดำ ไทลื้อ ภูไท ชอง กูย กะเลิง และ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะแก่งและชายฝั่ง เช่น อูรักลาโว้ย มอแกน มอแกลน

.

โดยในภาคอีสานมีกว่า 20 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน และในความเป็นจริง “เราทุกคน” ล้วนมีความเป็นชาติพันธุ์อยู่

.

ภาคอีสาน เป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ละจังหวัด ศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกถึงความเชื่อ ค่านิยม ศาสนา และรูปแบบการดำเนินชีวิต ตลอดจนอาชีพของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี สาเหตุที่ภาคอีสานมีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจาก การเป็นศูนย์รวมของประชากรหลากหลายเชื้อชาติ การอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ การกวาดต้อนไพร่พล หรือจากการหนีภัยสงครามเมื่อครั้งอดีต และมีการติดต่อสังสรรค์กับประชาชนในประเทศใกล้เคียง จนก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมขึ้น

.

.

ชาวอีสาน มาจากไหน?

.

ชาวอีสาน หรือ ฅนอีสาน มีบรรพชนมาจากการประสมประสานของผู้คนชนเผ่าเหล่ากอหลายชาติพันธุ์ ทั้งภายในและภายนอกทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีมาแล้ว (อาจถึง 10,000 ปีมาแล้ว) ผู้คนชนเผ่าเหล่ากอหลายชาติพันธุ์ที่ประสมประสานกันเป็น ชาวอีสาน มีบรรพชนอย่างน้อย 2 พวก คือ คนพื้นเมืองดั้งเดิมอยู่ภายในสุวรรณภูมิ กับคนภายนอกเคลื่อนย้ายเข้ามาภายหลังจากทิศต่างๆ

.

.

ในภาคอีสานมีชุมชนวัฒนธรรมท้องถิ่นมากมาย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะชาวไทลาวหรือชาวอีสานเท่านั้น หากมีกลุ่ม ชาติพันธุ์ ที่พูดภาษาถิ่น เช่น กลุ่มผู้ไท(ภูไท) แสก โซ่(โส้) กูย ญ้อ(ย้อ) โย้ย กะเลิง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบางสิ่งบางอย่างแตกต่างกันเฉพาะ ความหลากหลายของ กลุ่มชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร ค่อนข้างจะเด่นชัดกว่า โดยเฉพาะที่จังหวัดสกลนครมีทั้งไทยอีสานหรือไทลาวที่ตั้งรกรากกระจัดกระจายทุกอำเภอ

.

.

กลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสานมีอะไรบ้าง?

.

กะเลิง

📍สกลนคร (อำเภอเมืองและอำเภอกุดบาก), นครพนม (อำเภอเรณูนคร), มุกดาหาร (อำเภอคำชะอี และอำเภอดอนตาล) และหนองคาย

⭐อัตลักษณ์: มีความเชื่อเรื่องผีอย่างเข้มข้นผ่านพิธีกรรมเลี้ยงผี ทั้งผีเรือน ผีสูงสุดหรือผีชุมชน

.

กูย (กุย)

📍อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, บุรีรัมย์ และนครราชสีมา

⭐อัตลักษณ์: กูยมะไฮ (อุบลราชธานี) มีความเชื่อเกี่ยวกับศาลผีอาหย๊ะจำนัก, กูยมะโล (ศรีษะเกษ) มีความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษหรือศาลปู่ตา และกูยมะโลและกูยมะลัวใน (สุรินทร์ และศรีสะเกษ) มีความเชื่อเกี่ยวกับตะกวดว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และเป็นผีบรรพบุรุษผู้คุ้มครองความปลอดภัยแห่งชีวิต 

.

ขแมร์ลือ

📍พบมากในสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ และมีกระจายอยู่บ้างในนครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม

⭐อัตลักษณ์: การแต่งกายด้วยผ้าไหมที่มีความเป็นเอกลักษณ์และได้รับการยอมรับในวงกว้าง และมีความเชื่อที่ฝังรากลึกเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ

.

ญ้อ (ไทญ้อ)

📍มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, หนองคาย, นครพนม, มุกดาหาร, อุดรธานี และสกลนคร

⭐อัตลักษณ์: เคร่งครัดในการนับถือผี และพิธีกรรมระดับชุมชน
.

ญัฮกุร (เนียะกุร)

📍ชัยภูมิ (อำเภอเทพสถิต, อำเภอหนองบัวระเหว, อำเภอบ้านเขว้า, อำเภอซับใหญ่) และนครราชสีมา (อำเภอปักธงชัย, อำเภอครบุรี) 

⭐อัตลักษณ์: เป็นภาษาที่นับได้ว่าเป็นภาษาโบราณที่หาฟังได้ยาก ปัจจุบันมีการฟื้นฟูผ่านการขับร้องเพลงพื้นบ้าน หรือที่เรียกว่า “ปะเรเร”

.

บรู

📍หนองคาย, มุกดาหาร, สกลนคร และอุบลราชธานี

⭐อัตลักษณ์: มีความเชื่อเรื่องวิญญาณนิยม (ผี) และมีการยึดถือระบบเครือญาติ มีโครงสร้างสังคมวัฒนธรรม และระบบความเชื่อที่ส่งผลต่อการจัดองค์กรทางสังคมการปกครองตั้งแต่ระดับกลุ่มตระกูลจนถึงระดับชุมชน ในการอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มจะมีข้อควรระวังในเรื่องการผิดรีต (ฮีตคอง)

.

ผู้ไท (ภูไท)

📍กาฬสินธุ์, นครพนม, สกลนคร, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และยโสธร

⭐อัตลักษณ์: การทอนำผ้าฝ้ายย้อมครามและผ้าไหมแพรวามาตัดเย็บเป็นชุดประจำกลุ่มเพื่อรำถวายพระธาตุเรณู

.

มอญ

📍ชัยภูมิ และนครราชสีมา 

⭐อัตลักษณ์: มีความเชื่อในการนับถือผีบรรพบุรุษและความศรัทธาในพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างแรงกล้า

.

ลาวครั่ง

📍เลย

⭐อัตลักษณ์: ด้านเสียงวรรณยุกต์แตกต่างจากภาษาลาวถิ่นอื่น ๆ ผ้าทอนิยมใช้สีแดง หรือสีเหลือบแดง ใช้วัตถุดิบธรรมชาติท้องถิ่นที่นำมาย้อมด้ายหรือไหมให้เป็นสีแดง 

.

ลาวเวียง

📍นครราชสีมา ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม

⭐อัตลักษณ์: “ผ้าซิ่นตีนจก” นับเป็นงานหัตถกรรมที่มีความโดดเด่น ทั้งลวดลายที่ได้ถักทอลงบนผืนผ้า ประกอบกับใช้สีแดง ส่งผลให้ผ้าซิ่นมีความโดดเด่นและทรงคุณค่า

.

เยอ

📍ทั้งหมดตั้งถิ่นฐานอยู่ในศรีสะเกษ มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่ในมหาสารคาม

⭐อัตลักษณ์: มีความเชื่อเรื่องผี ผ่านพิธีกรรมไหว้ศาลปู่ตาควบคู่กับการนับถือพระพุทธศาสนา

.

แสก (ไทแสก)

📍อำเภอเมืองนครพนม อำเภอศรีสงคราม อำเภอนาหว้า และอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

⭐อัตลักษณ์: ภาษาแสก การละเล่นแสกเต้นสาก หรือประเพณีกินเตดเดนหรือวันตรุษแสก ซึ่งจัดขึ้นทุกปีเพื่อบวงสรวงผีบรรพบุรุษหรือ “โองมู้” นอกจากนี้ในช่วงวันนั้นยังกำหนดให้เป็น “งานประเพณีวันรวมใจไทแสก

.

โซ่ทะวืง

📍บ้านหนองแวง บ้านหนองม่วง บ้านหนองเจริญ และบ้านดงสร้างคำ ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร 

⭐อัตลักษณ์: มีความเชื่อดั้งเดิมในการบูชาและการนับถือผีปู่ตา 

.

โส้ (โทร)

📍สกลนคร, มุกดาหาร (อำเภอดงหลวง อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอเมือง), นครพนม (อำเภอท่าอุเทน อำเภอเมือง อำเภอศรีสงคราม อำเภอบ้านแพง อำเภอโพนสวรรค์ และอำเภอนาแก), กาฬสินธุ์ (อำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์) และบึงกาฬ (อำเภอโซ่พิสัย)

⭐อัตลักษณ์: ประเพณีการเหยาเพื่อเลี้ยงผี เหยาเรียกขวัญ และเหยารักษาคนป่วย และยังมีการแสดงโส้ทั่งบั้ง ซึ่งเป็นการแสดงประกอบพิธีเหยา

.

ไทดำ (ไทยโซ่ง)

📍เลย

⭐อัตลักษณ์: มีความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษอย่างเข้มข้น มีเครือข่ายทางสังคมข้ามพรมแดนรัฐชาติ 

.

ไทยพวน (คนพวน)

📍อุดรธานี ส่วนใหญ่นิยมตั้งถิ่นฐานใกล้กับแม่น้ำ เพราะมีชีวิตผูกพันกับอาชีพเกษตรกรรม 

⭐อัตลักษณ์: ภาษาพวนที่ยังคงใช้ในการสื่อสารกันในชุมชน นิยมแต่งกายด้วยผ้าหม้อห้อมและผ้าซิ่น และมีประเพณีสำคัญ เช่น ประเพณีฮีต 12 คอง 14 พิธีเลี้ยงผีปู่ตา ประเพณีกำฟ้า 

.

ไทเบิ้ง (ไทเดิ้ง)

📍บุรีรัมย์ (อำเภอนางรอง, อำเภอเมือง, อำเภอลำปลายมาศ), ชัยภูมิ (อำเภอจัตุรัส, อำเภอบำเหน็จณรงค์) และนครราชสีมา (ทุกอำเภอ ยกเว้นอำเภอหนองบัวใหญ่, อำเภอสูงเนิน)

⭐อัตลักษณ์: มีสำเนียงภาษาพูดที่ผสมผสานระหว่างสำเนียงสุพรรณบุรี สำเนียงภาคใต้ ซึ่งเป็นสำเนียงที่ไม่สะท้อนความเป็นอีสาน

.

ไทโคาช

📍นครราชสีมา

⭐อัตลักษณ์: ผ่านภาษา เพลงโคราช รวมถึงการเคารพบูชาท้าวสุรนารี 

.

ไทโย้ย (ไทย้อย)

📍สกลนคร (อำเภออากาศอำนวย, อำเภอสว่างแดนดิน, อำเภอวานรนิวาส และอำเภอพังโคน) 

⭐อัตลักษณ์: ประเพณีไหลเรือไฟในช่วงวันออกพรรษา เป็นประเพณีท้องถิ่นที่เปิดให้สาธารณชนได้รู้จักและร่วมเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

.

ไทยวน (ยวน)

📍อำเภอสีคิ้ว นครราชสีมา

⭐อัตลักษณ์: เสื้อผ้า การแต่งกาย อาหาร บทเพลง การร่ายรำ ศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมที่มีความอ่อนช้อยและงดงาม

.

.

อ้างอิงจาก:

– The Visual by Thai PBS

– องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

– จากหนังสือ : “อุบลราชธานี มาจากไหน” เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ, สำนักพิมพ์แม่คำผาง พิมพ์เผยแพร่ ตุลาคม 2555.

– ประตูสู่อีสาน

– silpa-mag.com

– ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่

https://linktr.ee/isan.insight

 

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #ชาติพันธุ์  #คนอีสาน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top