พามาเบิ่ง น้ำในแม่น้ำโขงไหลมาจากไหนบ้าง
.
แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของเขตปกครองตนเองทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญอีก 2 สาย คือ แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีนชาวจีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานชางเจียง” (Lancang Jiang) ไหลผ่านภูเขาและที่ราบสูงในประเทศจีน ผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และประเทศไทย บริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่
.
ลุ่มแม่น้ำโขงสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ลุ่มน้ำโขงตอนบน (Upper Mekong Basin) และลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Basin) โดยลุ่มน้ำโขงตอนบนเริ่มตั้งแต่ต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงในเขตปกครองตนเองทิเบต และประเทศจีน ส่วนลุ่มน้ำโขงตอนล่างเริ่มตั้งแต่มณฑลยูนนานในประเทศจีนไหลผ่านประเทศ เมียนมาร์ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนลงสู่ทะเลจีนใต้
.
นอกจากนี้ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Basin) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใน 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นทั้งแหล่งน้ำ แหล่งโปรตีน แหล่งพันธุ์ปลา พันธุ์พืช และสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งหล่อเลี้ยงผู้คนมากกว่า 60 ล้านคน เป็นแหล่งโปรตีนของผู้คนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมากถึงร้อยละ 47-80 โดยมีมูลค่าการทำประมงต่อปีอยู่ที่ 127,000 – 231,000 ล้านบาท
.
จากข้อมูล The Mekong-U.S. Partnership แสดงปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขงตลอดเดือน สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาว่าไหลมาจากที่ใดบ้าง และคิดเป็นสัดส่วนอย่างละเท่าไหร่ ดังนี้
- ช่วงแม่น้ำโขงตอนบน จากจีน เสี่ยวหวาน เชียงรุ่ง มวลน้ำคิดเป็น 21%
- ช่วงแม่น้ำโขงตอนล่าง ช่วงสามเหลี่ยมทองคำ มวลน้ำคิดเป็น 20%
- ช่วงแม่น้ำโขงตอนล่าง ช่วงน้ำงึม – นครพนม ซึ่งมีเมืองสำคัญทั้ง เวียงจันทน์ สปป.ลาว อำเภอเมืองหนองคาย และอำเภอเมืองนครพนม มวลน้ำคิดเป็น 36%
- ช่วงแม่น้ำโขงตอนล่าง ช่วงนครพนม – โขงเจียม ซึ่งรับน้ำจากแม่น้ำมูล และ แม่น้ำชีลงสู่แม่น้ำโขง มวลน้ำคิดเป็น 7%
- ช่วงแม่น้ำโขงตอนล่าง ช่วงลาวใต้ – สตึงเตรง กัมพูชา มวลน้ำคิดเป็น 16%
ด้วยมวลน้ำสะสมกว่า 5 หมื่น ล้านลบ.ม.(m³) สู่ 7 หมื่น ล้านลบ.ม.(m³) โดยประมาณ ตลอดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังพบว่าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม.(m³) ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจาก พายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ที่มีศูนย์กลางทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ประมาณ 280 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 20.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.5 องศาตะวันออกมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 155 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงทำให้ช่วงแม่น้ำโขงตอนล่างทั้งหมด รับมวลน้ำอย่างฉับพลัน ตลอด 3 วันติด เป็นผลให้เกิด อุทกภัยในหลายพื้นที่ตลอดลุ่มแม่น้ำโขง
“มวลน้ำสะสม กอปรกับ พายุไต้ฝุ่น ยางิ ที่ถือได้ว่ารุนแรงอันดับ 2 ของโลก เป็นผลให้เกิดอุทกภัยอย่างฉับพลัน”
MRC ไม่พบเขื่อนจีนระบายน้ำ หลังลาวเตือน ปชช. ระวังน้ำโขงท่วม
เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 สถานทูตจีนประจำประเทศลาว ออกแถลงการณ์ถึงข่าวในโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการปล่อยน้ำปริมาณมาก จากเขื่อนจิ่งหงในประเทศจีน ซึ่งอ้างว่า ส่งผลกระทบต่อประเทศลาว
เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่เพจสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย โพสต์ข้อความชี้แจงว่า จีนไม่ได้ปล่อยน้ำลงแม่น้ำโขงเมื่อเร็ว ๆ นี้เช่นกัน
เจ้าหน้าที่จีนยืนยันว่า เขื่อนจิ่งหงทำงานตามปกติ โดยมีการปล่อยน้ำในอัตราที่คงที่และควบคุมได้
สถานทูตรายงานว่า การปล่อยน้ำปริมาณมาก เป็นข่าวลือ ที่ไม่มีมูลความจริง สาเหตุที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง เพิ่มขึ้นสูง เพราะฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้งในประเทศไทย ลาว เมียนมา ทำให้ประเทศปลายน้ำโขงเหล่านี้มีน้ำระดับสูงขึ้น ไม่ใช่การทำงานของเขื่อนจิ่งหง เขื่อนได้ลดปริมาณการปล่อยน้ำลงเหลือเพียงร้อยละ 30 ของอัตราเฉลี่ยก่อนสร้างเขื่อน ซึ่งช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อปลายน้ำได้มากขึ้น
นอกจากนี้ แถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC เรื่องระดับน้ำถึงขั้นเตือนภัยในบางเมืองตามกระแสน้ำแม่โขงตอนล่าง เน้นย้ำว่าน้ำในแม่น้ำโขงเพียงร้อยละ 13.5 เท่านั้นที่มีต้นกำเนิดจากจีน ดังนั้น ผลกระทบต่อการไหลของน้ำบริเวณปลายน้ำจึงน้อยมาก
ข้อมูลการติดตามของ MRC เผยให้เห็นว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทั่วลุ่มน้ำ ได้ผลักดันระดับน้ำในแม่น้ำของสถานีส่วนใหญ่ ให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว
MRC ได้ติดต่อสื่อสารกับศูนย์น้ำความร่วมมือล้านช้างแม่โขง ตลอดจนคณะกรรมธิการแม่โขงแห่งชาติลาว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงพลังพลังงานและเหมืองแร่ จีนและลาว ระบุว่า พวกเขากำลังจัดการการปล่อยน้ำอย่างระมัดระวัง แม้ว่าอ่างเก็บน้ำจะใกล้เต็มความจุ
แต่การปล่อยน้ำ เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยของเขื่อน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากฝนตกหนัก อย่างไรก็ตาม การปล่อยน้ำจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจิ่งหง เขื่อนนำอู และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี นั้นลดลง
แม้ว่าปริมาณน้ำฝนจะลดลง แต่ระดับน้ำที่สถานีต่าง ๆ เช่น เชียงคาน เวียงจันทน์ และ หนองคาย จะยังคงอยู่ในระดับสูง สถานีปลายน้ำ เช่น ปากชัน และนครพนม อาจประสบกับระดับน้ำที่สูงขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ
สำหรับ เขื่อนในประเทศจีนมักถูกกล่าวหาว่า ทำให้เกิดน้ำท่วมผิดฤดูกาลและภัยแล้งในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำ
อ้างอิง:
- ประกาศกรมอุตุวิทยา พายุ “ยางิ” ฉบับที่ 18 (177/2567)
- The Mekong-U.S. Partnership
- MRC ไม่พบเขื่อนจีนระบายน้ำ หลังลาวเตือน ปชช. ระวังน้ำโขงท่วม