ถนนไปที่ไหน ความเจริญไปที่นั่น จาก “สุดบรรทัด-เจนจบทิศ สู่ มิตรภาพ” เส้นทางประตูสู่อีสาน

เราสัญจรบน ถนนมิตรภาพมานาน แต่น้อยคนจะรู้ที่มาของชื่อ “มิตรภาพ” นั้นหมายถึงมิตรภาพระหว่างใคร บ้างก็ว่าเป็น มิตรภาพไทย-ลาว แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ และยิ่งไปกว่านั้น ก่อนจะมาเป็นชื่อ “มิตรภาพ” ทางหลวงสายนี้ยังเคยใช้ชื่ออื่นมาก่อนด้วย

ประวัติความเป็นมาของ ถนนมิตรภาพ

ถนนมิตรภาพเป็นทางหลวงที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางสหรัฐในด้านงบประมาณการก่อสร้าง เทคนิควิชาการในการก่อสร้าง นับเป็นทางหลวงสายแรกที่ก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานการก่อสร้างทางหลวงทุกขั้นตอน และเป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟอลต์คอนกรีต โดยเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2508

คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ตั้งชื่อถนนช่วงสระบุรี–ปากช่อง–นครราชสีมาว่า “ถนนสุดบรรทัด” และในช่วงนครราชสีมา–ขอนแก่น–อุดรธานี–หนองคายได้รับการตั้งชื่อถนนว่า “ถนนเจนจบทิศ” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ก่อนที่จะได้รับการสนันสนุนการก่อสร้างจากสหรัฐ ซึ่งเริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2498 จากสระบุรีจนถึงนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 148 กิโลเมตร โดยการสร้างถนนจากสระบุรี-นครราชสีมา ระยะแรกเริ่มต้นจากจังหวัดสระบุรี ไปสิ้นสุดที่จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 148 กิโลเมตร จะมีช่วงถนนผ่านเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา ผ่านอำเภอปากช่อง เป็นอำเภอแรกสุดของการเดินทางจากถนนมิตรภาพเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, สีคิ้ว, สูงเนิน, และอำเภอเมืองนครราชสีมา ผ่านตัวเมืองนครราชสีมา จากนั้นเส้นทางออกจากเมืองขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านอำเภอเฉลิมพระเกียรติ, โนนสูง, คง, โนนแดง, สีดา และอำเภอบัวลาย ก่อนเข้าสู่จังหวัดขอนแก่น ต่อมาได้สร้างต่อไปยังจังหวัดหนองคาย รวมเป็นระยะทาง 509 กิโลเมตร ถนนสายนี้เริ่มเปิดใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2508 นับว่าถนนมิตรภาพเป็นถนนสายหลักที่สามารถเดินทางไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามสำนวนที่ว่า เปิดประตูสู่อีสาน

เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2498 โดยรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา (USOM) ในด้านงบประมาณการก่อสร้าง เทคนิควิชาการในการก่อสร้าง พร้อมทั้งได้จ้างผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันมาช่วยให้คำแนะนำ ส่วนการออกแบบและการก่อสร้างอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมทางหลวง นับเป็นทางหลวงสายแรกที่ก่อสร้างถูกต้องตามแบบมาตรฐานการก่อสร้างทางหลวงทุกขั้นตอน และเป็นทางหลวงสายแรกของประเทศไทยที่มีผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟอลต์คอนกรีต เพื่อแสดงถึงมิตรภาพของประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาในการก่อสร้างถนนร่วมกัน จึงขนานนามถนนสายนี้เป็น ถนนมิตรภาพ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระอริสริยศในขณะนััน) เสด็จพระราชดำเนินมาทรประกอบพิธีเปิดถนนมิตรภาพบริเวณกิโลเมตรที่ 33 อำเภอมวกเล็ก จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 และมีพิธีมอบถนนให้ประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500  และได้เปลี่ยนชื่อ ขนานนามใหม่ให้ถนนสายนี้ว่า ถนนมิตรภาพ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เพื่อแสดงถึงมิตรภาพของประเทศไทยกับสหรัฐในการก่อสร้างถนนร่วมกัน โดยมีพิธีมอบถนนให้ประเทศไทย ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2501

 

ป้ายอนุสรณ์ ความร่วมมือ มิตรภาพ สหรัฐอเมริกา-ไทย

 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ถนนมิตรภาพ ช่วงลำตะคอง โคราชในอดีต เมื่อปี พ.ศ.2514

อนุสาวรีย์จำลอง อนุสรณ์ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 เดิม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพ ในปัจจุบัน) ตอน สระบุรี – นครราชสีมา

หลักฐานที่กล่าวถึงจาก วิทยุสารประจำวัน ของ กรมประชาสัมพันธ์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 39 ประจำวันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2500
ภาคข่าว ข่าวราชการ ภาคค่ำ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2500 (เวลา 20.00 น.) จาก  * หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเรียก สร.1  สระบุรี 4 เล่ม 98 หน้า 4-8 หนังสือ วิทยุสารประจำวัน 98  พ.ศ.2500

กล่าวถึงรายละเอียดของพิธีเปิดถนนมิตรภาพอย่างไม่เป็นทางการ โดยมี พล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และ นายแม็กซ์ วัลโด บิชอป เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทย  กล่าวปราศรัยในการเปิดถนนมิตรภาพ ” และพอเสร็จพิธี นายกรัฐมนตรี กดปุ่มไฟฟ้าเปิดถนนมิตรภาพ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีและบรรดาผู้มีเกียรติที่ได้รับเชิญไปในพิธีขึ้นรถยนต์แล่นผ่านทางที่เปิดใหม่ไปยังกิโลเมตรที่ 33 และแวะชมอนุสาวรีย์จำลอง ซึ่งได้จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอเมริกาในการก่อสร้างถนนมิตรภาพ”

เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจากการมาของ ถนนมิตรภาพ

ถนนมิตรภาพ ถนนหลักประตูสู่อีสาน ย่นเวลา กรุงเทพฯ. – โคราช เหลือ 3 ชั่วโมง

ความยาวกว่า 500 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากภาคกลาง ที่สระบุรี ลากยาวจนถึงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ที่หนองคาย เปรียบเสมือนหลอดเลือดใหญ่ของโครงสร้างคมนาคมในอีสาน ที่ลากผ่านจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญของอีสาน โคราช – ขอนแก่น – อุดรธานี – หนองคาย

อีสานอินไซต์ ขอพาเปิดมุมมองเศรษฐกิจ ว่าหลอดเลือดใหญ่เส้นนี้สำคัญกับเศรษฐกิจอีสานมากขนาดไหน

เริ่มจากภาพใหญ่ จุดเริ่มต้นของถนนมิตรภาพในอีสานคือโคราช จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวมากที่สุดในอีสาน จากการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลักของภาคอีสาน ด้วยจำนวนโรงงานกว่า 1,800 แห่ง และมีเงินลงทุนสะสมมากถึง 220,000 ล้านบาท

ต่อมาที่ขอนแก่น ศูนย์กลางของภาคอีสานทั้งจากตำแหน่งที่ตั้ง รวมถึงการเป็นแหล่งศูนย์กลางราชการที่สำคัญของอีสาน จากการที่มีหน่วยงานราชการหลักของภูมิภาคเข้ามาตั้งในจังหวัด ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ DEPA, TCDC, TCEB, BOI ฯลฯ รวมถึง สถานกงสุลของจีน ลาว และเวียดนาม

และปิดท้ายที่ อุดรธานี และหนองคาย ด่านชายแดน พร้อมพื้นที่รับรองกิจกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางหลักของภาคอีสานตอนบน โดยเฉพาะจาก สปป.ลาว โดยล่าสุดอุดรธานีได้ครองอันดับ 1 จุดหมายปลายทางที่คุ้มค่าที่สุดจาก Agoda และมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสูงที่สุดในภาคอีสาน ในขณะที่หนองคายก็มีจุดแข็งในด้านการค้าชายแดนที่มีมูลค่าสูงถึงกว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 46% ของการค้าชายแดนไทย-ลาวทั้งหมด อีกทั้งหนองคายยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไว้ดึงดูดการลงทุนอีกด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้ 4 จังหวัดที่ถนนมิตรภาพพาดผ่านถือครองมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 720,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดภาพง่าย ๆ คือ เพียง 4 จังหวัดนี้ คือครองมูลค่าเศรษฐกิจถึง 40% ของทั้งหมด 20 จังหวัดในอีสาน

ต่อมาในมุมมองของปริมาณการใช้ถนน เมื่อเปรียบเทียบกับ 4 ถนนหลอดเลือดหลักที่แยกไปตามแต่ละภูมิภาค ได้แก่ 

  • ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ผ่านภาคกลางมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ 
  • ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ประตูมาอีสาน 
  • ทางหลวงหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท เส้นทางสู่ตะวันออก 
  • และทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ถนนกว่า 1,000 กิโลฯ มุ่งสู่ภาคใต้

ถนนมิตรภาพมีปริมาณการใช้ถนนในกลุ่มรถยนต์นั่ง รถโดยสาร และรถบรรทุก เฉลี่ยอยู่ที่เกือบ ๆ 1.2 ล้านคันต่อวัน เป็นรองจากถนนพหลโยธิน และถนนเพชรเกษมเท่านั้น โดยถนนพหลโยธินที่มุ่งหน้าภาคเหนือ มีปริมาณการใช้ถนนเฉลี่ย 1.8 ล้านคันต่อวัน แต่เป็นที่น่าสนใจว่าจุดเริ่มต้นของถนนมิตรภาพ อยู่ที่จุดตัดถนนพหลโยธินกิโลเมตรที่ 106 ซึ่งอาจอนุมานได้ว่าจริง ๆ แล้วปริมาณการใช้ถนนพหลโยธินกว่า 1.8 ล้านคัน เป็นการใช้เพื่อผ่านทางมายังถนนมิตรภาพประตูสู่อีสานเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นเกือบ 70% ของการใช้ถนนพหลโยธินทั้งหมด สะท้อนภาพว่าจริง ๆ แล้วหากนับปริมาณรถใช้บนท้องถนน ถนนมิตรภาพจะเป็นรองเพียงแค่ถนน 1,000 กิโลฯที่มุ่งหน้าสู่ชายแดนใต้เท่านั้น

แล้วกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน ของถนนมิตรภาพหน้าตาเป็นประมาณไหน เดี๋ยวอีสานอินไซต์พาไปชม

กลุ่มแรกที่มีการใช้ถนนมิตรภาพมากที่สุดคือรถยนต์นั่ง คิดเป็น 52% ตามด้วยรถบรรทุก (นับรวมรถกระบะที่ป้ายทะเบียนตัวหนังสือสีเขียว) คิดเป็น 43% และกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ 5% ยิ่งยำชัดพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลของประชาชนในอีสาน

ซึ่งเมื่อดูการกระจุกตัวของการใช้ถนนมิตรภาพในแต่ละจังหวัด จะเห็นการกระจุกตัวมากที่สุดมากกว่าครึ่งอยู่ในโคราช ซึ่งก็คงปฏิเสธได้ยาก เพราะเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวอีสานที่ใกล้ กทมฯ มากที่สุด รวมถึงการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญ ตามด้วยขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ตามลำดับ เรียงตามระยะห่างจากเมืองหลวง ซึ่งสะท้อนว่ากิจกรรมเศรษฐกิจและการเดินทางในอีสานถึงแม้จะเป็นสายหลอดเลือดหลักก็ยังพึ่งพาปริมาณจากส่วนกลางเป็นหลัก

แล้วหลังจากนี้อนาคตของถนนมิตรภาพจะมุ่งไปทางไหน 

อีสานอินไซต์เห็นแนวโน้มการพัฒนาของถนนมิตรภาพต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกรมทางหลวง ในปีงบประมาณ 2566 มีการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของถนนมิตรภาพกว่า 1,400 ล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงจังหวัดขอนแก่น เพื่อรองรับกิจกรรมการเดินทางที่กลับสู่ระดับปกติหลังการปริมาณการเดินทางชะลอลงจากมาตรการในช่วง COVID-19 

ซึ่งสะท้อนว่าส่วนกลางยังเห็นความสำคัญของถนนมิตรภาพต่อเนื่อง และจะส่งเสริงและพัฒนาหลอดเลือดหลักของอีสานเส้นนี้ต่อไป

ที่มาข้อมูล:

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top