1. วัดป่าภูหายหลง – นครราชสีมา
วัดถูกสร้างเมื่อปี 2482 เพื่อสร้างไว้สำหรับเป็นที่พักของพระสงฆ์ โดยเมื่อก่อนนั้นจะมีชื่อว่า วัดภูเขากอย แต่ต่อมาเมื่อปี 2542 พระอาจารย์ประพันธ์ อนาวิโล (ครูจารย์สุ่ม) ได้มีโอกาสมาพำนักที่วัดแห่งนี้ ซึ่งตอนนั้นมีแค่เพียงกุฏิ และศาลาหลังเล็กๆ เท่านั้น ไม่มีพระประจำวัดมานานแล้ว ชาวบ้านจึงได้อาราธนาพระอาจารย์ประพันธ์ให้เป็นหลักศาสนา และศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน พระอาจารย์จึงได้ตั้งชื่อวัดขึ้นมาใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลว่า วัดป่าภูหายหลง ที่มีความหมายว่า ดินแดนแห่งความหลุดพ้นจากความหลงทั้งปวง
2. วัดเขาวันชัยนวรัตน์ – นครราชสีมา
เป็นวัดสาขาที่ 82 ของ วัดหนองป่าพง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งวัดขึ้นตั้งแต่ปี 2484 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี 2559 ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้คือ อุโบสถ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเนินเขา สร้างเสร็จเมื่อปี 2549 เป็นอุโบสถลายไม้ แห่งเดียวของโลก สร้างด้วยหินทรายแปรรูปที่มีเส้นสายของชั้นตะกอนคล้ายกับลายไม้เนื้อแข็งสวยงาม และลักษณะของอาคารคล้ายกับบ้านไม้สมัยโบราณ
3. วัดถ้ำซับมืด – นครราชสีมา
ถ้ำซับมืดถูกพบในปี 2478 โดยเริ่มแรกนั้นชาวบ้านได้บุกเบิกพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ได้พบถ้ำที่มีความมืดครึ้มตลอดทั้งวัน มีน้ำซับ (น้ำผุด) จากแอ่งหิน จากนั้นในปี 2480 หลวงปู่สีลา อิสฺสโร ได้เดินทางธุดงค์มายังปากช่อง แล้วได้พบถ้ำซับมืด จึงหยุดพักปักกลดและบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้ กระทั่งปี 2498 พระครูญาณโศภิต (มี ญาณมุนี) ได้มาอยู่จำพรรษาอบรมชาวบ้าน และพัฒนาวัดเรื่อยมา
4. วัดพระธาตุเชิงชุม – สกลนคร
เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสกลนครมาแต่โบราณ มีข้อสันนิษฐานว่าแต่เดิมพระธาตุเชิงชุมอาจเป็นปราสาทหินทรายศิลปะสมัยขอม เนื่องจากภายในกรอบประตูทางเข้าอุโมงค์ด้านขวามือ พบจารึกพระธาตุเชิงชุมอักษรขอมโบราณราวพุทธศตวรรษที่ 16 แต่องค์พระธาตุในปัจจุบันเป็นศิลปะล้านช้าง เนื่องด้วยอิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างแผ่เข้ามาบริเวณภาคอีสานของไทยราวพุทธศตวรรษที่ 19 และได้มีการบูรณะองค์พระธาตุขึ้นมาใหม่
5. วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว – อุบลราชธานี
ท่านพระอาจารย์บุญมากเป็นผู้ริเริ่ม ท่านเป็นคนฝั่งลาวจำปาสัก ได้เข้ามาเผยแพร่อบรมสมาธิทางฝั่งไท และได้ปักกลดที่ภูพร้าวแห่งนี้ในปี 2497-2498 ต่อมาปี 2516 ท่านได้ขอบิณฑบาตพื้นที่ให้เป็นวัดจากทางหน่วยทหารและทางราชการ อ.พิบูลมังสาหาร ทางอำเภอจึงให้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดสิรินธรวราราม” หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์บุญมากต้องกลับประเทศลาว ทิ้งให้วัดร้างหลายสิบปี จนกระทั่งปี 2542 พระครูกมล ลูกศิษย์ของท่านได้ค้นพบวัดอีกครั้งและบูรณะให้กลับมาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้ดังเดิม หลังจากพระครูกมลละสังขารไปในปี 2549 พระครูปัญญาก็เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและสานต่องานสร้างวัดต่อไป อย่างต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสง
6. วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร – นครพนม
พระธาตุพนม ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งภาคอีสาน พระบรมธาตุที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาของนครพนมมาแต่โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธกาลประมาณ ปี 8 ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรเจริญรุ่งเรือง ประดิษฐานอยู่บนภูกำพร้าตั้งตระหง่าน อยู่ริมฝั่งโขง เป็นสถานที่ครั้งหนึ่งพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรดสัตว์น้อยใหญ่ ตามตํานานอุรังคธาตุกล่าวถึง พระมหากัสสปะและพระอรหันต์ 500 องค์ ได้นําพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากชมพูทวีปและท้าวพญาผู้ครองนครทั้ง 5 เป็นประธาน ในการสร้างที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบัน
7. วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม – ร้อยเอ็ด
พระมหาเจดีย์ชัยมงคลนั้นได้เริ่มก่อสร้างในปี 2528 มีเนื้อที่ 2,500 ไร่ โดยมีพระเทพวิสุทธิมงคล หรือหลวงปู่ศรีมหาวีโร พระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนากรรมฐานเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนารามเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระมหาเจดีย์ชัยมงคล พระมหาเจดีย์ใหญ่ที่มีความงดงามตระการตามากที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย
8. วัดทุ่งเศรษฐี – ขอนแก่น
วัดทุ่งเศรษฐี มี “มหาเจดีย์รัตนะ” หรือ “มหาเจดีย์ศรีไตรโลกธาตุ” ได้ถูกสร้างโดยความริเริ่มของหลวงตาอ๋อยหรือที่รู้จักกันในนาม “หลวงตาย่ามแดง” ท่านได้ชักชวนลูกหลานศิษยานุศิษย์ร่วมกันสร้างมหารัตนเจดีย์ฯแห่งนี้บนที่ดินแปลงหนึ่งของท่าน ความโดดเด่นของมหาเจดีย์ ที่รูปแบบการก่อสร้างที่สะท้อนถึงความเชื่อต่างๆ เป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างองค์เจดีย์สำคัญทั้งสามโลก คือ เจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นครเจดีย์ในนาคพิภพ และมหารัตนเจดีย์ศรีไตรโลกธาตุบนโลกมนุษย์ มาเยือนที่นี่แค่เพียงที่เดียวก็เหมือนกับว่าได้มาสักการะองค์เจดีย์ถึง 3 โลกเลยทีเดียว
9. วัดวังคำ – กาฬสินธุ์
เริ่มที่สร้างวัดแห่งนี้ในปี 2539 เริ่มจากการสร้างกุฏิเล็กๆ ศาลาเล็กๆ หลังคามุงหญ้าคาในพื้นที่เล็กๆ แต่ด้วยแรงจิตศรัทธาจากคนในพื้นที่ทำให้ทางวัดได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมีการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญต่างๆ ของทางวัดเพิ่มเติมมากขึ้น โดยเฉพาะกับอาคารโบสถ์หลังงามนั้น พระครูสังวรสมาธิวัตร (ท่านเจ้าอาวาสวัดวังคำ) ชื่นชอบในศิลปะล้านช้าง ท่านจึงคิดที่จะนำศิลปะล้านช้าง โดยท่านได้เลือก “วัดเชียงทอง” ที่เมืองมรดกโลก หลวงพระบาง แห่งสปป.ลาว มาเป็นต้นแบบ หลังจากนั้นท่านก็เดินทางไปที่วัดเชียงทองเพื่อถอดแบบมาสร้างที่กาฬสินธุ์
อ้างอิงจาก:
– noomsaotours
– ข้อมูลจังหวัดนครพนม
– การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
– Trip.com
– MGR Online
– trueID
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ#ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #วัด #วัดสวย #เที่ยววัด #IsanCulture #วิถีไทบ้าน