พามาเบิ่ง
จำนวนผู้ป่วยซึมเศร้า : จิตแพทย์
ของภาคอีสาน
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าอัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ในขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีจำนวนมากขึ้นทุกปีแต่จำนวนจิตแพทย์ในไทยกลับขาดแคลน
ข้อมูลจาก Mental Health ATLAS 2020 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า จำนวนจิตแพทย์ใน 156 ประเทศทั่วโลก มีค่ามัธยฐานของอัตราส่วนของจิตแพทย์อยู่ที่ 1.7 คนต่อประชากร 100,000 คน
โดยในประเทศไทยนั้น ตามรายงานจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช กรมสุขภาพจิต ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ระบุว่า ไทยมีจิตแพทย์รวม 845 คน คิดเป็นจิตแพทย์ 1.28 คนต่อแสนประชากร ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในอีสาน พบว่าจังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.นครราชสีมา 19,158 คน
2.อุบลราชธานี 12,752 คน
3.ขอนแก่น 10,684 คน
4.บุรีรัมย์ 8,701 คน
5.ศรีสะเกษ 7,699 คน
เมื่อพิจารณาภาระความรับผิดชอบ พบว่า จิตแพทย์ในภาคอีสานนั้นมีภาระสูงสุด โดยจิตแพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 10,994 คน และต้องดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีก 827 คน
โดยสาเหตุที่จิตแพทย์ขาดแคลนมาจากกระบวนการผลิตจิตแพทย์ที่ทำได้ยากและใช้เวลานาน ต้องรอจนกว่าแพทย์เรียนจบหลักสูตร 6 ปี ใช้ทุนอีก 3 ปี จึงจะกลับมาเรียนแพทย์เฉพาะทางต่อ จิตแพทย์ผู้ใหญ่ใช้เวลาเรียน 3 ปี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 4 ปี
นอกจากระยะเวลาในการเรียนแล้ว ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่ง คือ การขาดแคลนอาจารย์ สำหรับจิตแพทย์ 1 คน ต้องใช้อาจารย์แพทย์ประมาณ 3 คน ด้วยอัตราแบบนี้ทำให้เพิ่มจำนวนได้ช้า เพราะคนที่อยู่ในระบบมีน้อย
ปัจจุบัน กรมสุขภาพจิตและสมาคมจิตวิทยาการปรึกษา อยู่ระหว่างการผลักดันมาตรฐานการให้บริการด้านจิตเวชให้ครอบคลุมจำนวนผู้ป่วยมากขึ้น แต่ต้องใช้เวลาอีกหลายปี นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ในการแก้ปัญหาของภาครัฐ ที่ไม่เพียงต้องป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยจิตเวชและโรคซึมเศร้า แต่ยังต้องคำนึงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำจากทรัพยากรสาธารณสุขที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่อีกด้วย
อ้างอิงจาก :
กรุงเทพธุรกิจ
รายงานข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุข ประจำปี 2564
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #จำนวนผู้ป่วยซึมเศร้า #จิตแพทย์