ชวนเบิ่ง NER โรงงานผลิตยางพารา หมื่นล้านในภาคอีสาน

รู้หรือไม่ว่าแหล่งผลิตยางพาราคุณภาพของประเทศไทยนั้น นอกจากพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกแล้ว ยังมีอีกพื้นที่หนึ่งที่เกษตรกรนิยมปลูกยางพารา และสามารถผลิตน้ำยางที่มีคุณภาพไม่แพ้ที่อื่น ๆ นั่นคือ พื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งกินพื้นที่กว่า 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

วันนี้ ISAN Insight & Outlook จะพาไปดู NER ทำธุรกิจอะไรบ้าง และเติบโตมาไกลแค่ไหน ?

จุดเริ่มต้น NER ก่อตั้งโดย คุณชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ เดิมทีครอบครัวคุณชูวิทย์ประกอบอาชีพทำลานมันเส้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จนเมื่อปี พ.ศ. 2527 คุณพ่อของคุณชูวิทย์ได้ริเริ่มการปลูกยางพาราในพื้นที่อีสานใต้ ทำให้เกษตรกรในภาคอีสาน เริ่มสนใจและหันมาปลูกยางพาราเพื่อสร้างรายได้

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นก็คือ ที่ภาคอีสานนั้น “ไม่มีสถานที่รับซื้อยางพารา” คุณชูวิทย์และเกษตรกรคนอื่น ๆ ต้องนำผลผลิตยางพาราที่ได้มาไปขายที่จังหวัดระยอง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและโดนกดราคา

แต่ปัญหาดังกล่าวก็ได้ทำให้คุณชูวิทย์เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ โดยเขาได้ตัดสินใจตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราขึ้นมาชื่อว่า “นอร์ทอีส รับเบอร์” หรือ NER ในปี พ.ศ. 2549 โดยเริ่มจากการรับซื้อยางจากเกษตรกรในบริเวณใกล้เคียงและนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันขายให้กับคู่ค้าทั่วประเทศ

แต่ในช่วงแรกของการทำธุรกิจนั้น บริษัทได้เจอวิกฤติครั้งใหญ่ จากการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยที่ไม่สต็อกของไว้ในมือ เมื่อราคาของยางพาราวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทไม่มีเงินพอไปซื้อของมาขายตามที่สัญญาไว้ได้

ตอนนั้นคุณชูวิทย์มีทางเลือกอยู่สองทาง หนึ่งคือ การไม่ทำตามสัญญาแล้วออกจากธุรกิจนี้ไป

สองคือ การไปเจรจากับคู่ค้าโดยตรง คุณชูวิทย์ตัดสินใจบินไปหาคู่ค้าที่สิงคโปร์ด้วยตัวเองและชี้แจงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยขอผ่อนชำระหนี้ในระยะยาวกับคู่ค้าแทน ซึ่งคู่ค้าก็เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการแจ้งล่วงหน้า 3 เดือน ทำให้มีเวลาในการปรับตัว และยังสามารถเป็นคู่ค้ากันต่อไปได้

ผลจากวิกฤติครั้งนี้ทำให้บริษัทเรียนรู้ข้อผิดพลาด และเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจโดยการไม่ยุ่งกับตลาดซื้อขายล่วงหน้าอีก แต่ใช้วิธี “Matching” คือ ซื้อเข้ามาแล้วขายออกเลย หรือรับออร์เดอร์ขายเข้ามาก่อน แล้วค่อยซื้อเข้ามาเก็บไว้ ทำให้บริษัทไม่ต้องรับความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของต้นทุนสินค้าอีกต่อไป จุดนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอในระยะยาว แม้ว่าวัตถุดิบอย่างยางพาราจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ตัวหนึ่งที่มีวัฏจักรราคาหรือรอบของมันก็ตาม เมื่อบริษัทมีความมั่นคงและเป็นที่รู้จักมากขึ้น สามารถขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิต และออกสินค้าตัวอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมา อย่างยางอัดแท่ง และยางผสม ซึ่งเป็นที่ต้องการของทั้งตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ

หากพิจารณาผลประกอบการของ NER เป็นอย่างไรบ้างในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ?

รายได้และกำไรของ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)

ปี 2561 รายได้ 10,074 ล้านบาท กำไร 487 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้ 13,021 ล้านบาท กำไร 539 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้ 16,365 ล้านบาท กำไร 859 ล้านบาท

ปี 2564 รายได้ 24,456 ล้านบาท กำไร 1,850 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่า ในปี 2564 รายได้เติบโต 49% ขณะที่กำไรเติบโต 115% จากปีก่อนหน้า ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าหลักทรัพย์กว่า 10,255 ล้านบาท และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปัจจัยหลักที่ทำให้รายได้ของ NER เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มาจากการปรับปรุงเครื่องจักรและสร้างโรงงานแห่งที่สองในบริเวณเดียวกัน ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 232,800 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 465,600 ตันต่อปี หรือสองเท่าของกำลังการผลิตเดิม

นอกจากนี้ยังควบคุมต้นทุนการใช้พลังงานของบริษัท ด้วยการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ โดยใช้พืชพลังงาน, วัสดุเหลือใช้ และน้ำเสียภายในโรงงานในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการติดตั้ง Solar Roof บนหลังคาโรงงาน จึงทำให้บริษัทมีอัตรากำไรที่สูงมากขึ้น ในอนาคต NER กำลังขยายไปสู่ธุรกิจปลายน้ำ บริษัทได้ลงทุนวิจัยผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกำลังจะเปิดตัวสินค้าตัวแรก คือ แผ่นรองนอนปศุสัตว์ในต้นปีหน้า

และนี่ก็คือธุรกิจทั้งหมดของ NER บริษัทยางพารามูลค่าหมื่นล้านที่อยู่ในภาคอีสาน ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้

อ้างอิงจาก:

https://www.nerubber.com/

https://www.set.or.th/…/NER/company-profile/information

https://www.longtunman.com/34525…

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top