2 โรงพยาบาลเอกชนใหญ่ในภาคอีสาน ที่อยู่ในตลาดหุ้น

วันนี้ ISAN Insight & Outlook จะพามาดูเส้นทางของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแต่ละรายนี้ เป็นมาอย่างไร?

โรงพยาบาลราชพฤกษ์ หรือ RPH เริ่มก่อตั้งในปี 2536 ในนามของบริษัท สีฐานการแพทย์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์ ในนามโรงพยาบาลราชพฤกษ์ ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มี ชื่อเสียงในจังหวัดขอนแก่น ด้านคุณภาพการรักษาพยาบาลภายใต้ราคาที่เหมาะสม ก่อตั้งโดยกลุ่มแพทย์และอาจารย์แพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทนาลัยขอนแก่น ในปี 2559 ได้เปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชน และเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน)”

ต่อมาได้มองเห็นความต้องการของบริการทางด้านสาธารณสุขของประชาชนในบริเวณจังหวัดขอนแก่น โดยทางผู้ก่อตั้งได้เล็งเห็นว่าการให้บริการของสถานพยาบาลต่าง ๆ ในเขตอำเภอเมือง และจังหวัดใกล้เคียงยังมีจำนวนไม่มากและไม่เพียงพอต่อความต้องการดังกล่าว จึงได้ตัดสินใจก่อตั้งโรงพยาบาลราชพฤกษ์ขึ้นในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในทำเลที่มีการเติบโตสูง และอยู่บนถนนสายหลัก คือ ถนนมิตรภาพ โดยได้เริ่มเปิดดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2537 ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในปัจจุบัน(วันที่ 31 ธันวาคม 2564) โรงพยาบาลราชพฤกษ์มีทุนจดทะเบียนรวม 546 ล้านบาท มีจำนวนเตียงผู้ป่วย จำนวน 198 เตียง โดยมีห้องตรวจทั้งหมด 36 ห้อง และศูนย์การแพทย์ครบวงจร จำนวน 5 ศูนย์

ซึ่งบริษัทมีพันธกิจในการดำเนินธุรกิจ คือ “มุ่งมั่นพัฒนาและให้บริการด้านสุขภาพที่มีความปลอดภัยระดับ มาตรฐานสากล ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ค่าบริการที่เป็นธรรม เป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา มุ่งเน้นให้เกิดประสบการณ์ที่เป็นเลิศแก่ผู้รับบริการ” โดยบริษัทได้ยึดถือและปฏิบัติมานับตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงานโรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งเป็นพันธกิจหลักที่บริษัทให้ความสำคัญเสมอมา โดยเป็นที่มาของการให้บริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทำให้ บริษัทได้รับความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นและศรัทธาจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นเหตุผลหลักประการหนึ่งที่ทำให้ผลการดำเนินงานบริษัทสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในขณะที่โรงพยาบาลนอร์ทอีสเทอร์นวัฒนา หรือ NEW ก่อตั้งโดยกลุ่มครอบครัวตั้งสืบกุล เมื่อปี 2528 โดยได้รวบรวมกลุ่มแพทย์เพื่อจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาด 25 เตียง ต่อมาในปี 2533 ได้ขยายและจดทะเบียนเป็น โรงพยาบาลขนาด 100 เตียงจนปัจจุบัน และในปี 2539 บริษัทฯได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และมีทุนเรียกชำระแล้ว 100 ล้านบาท

ซึ่งบริษัทฯมีความมุ่งมั่นดำเนินงานตามหลักการกำกับกิจการที่ดีเพื่อเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ การเติบโตอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการ ด้วยการคำนึงถึงความรับผิดชอบและการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างบริษัทฯ กับผู้มีส่วนได้เสียทุกส่วนตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ พร้อมมุ่งสู่การยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง ด้วยการผนวกการบริหารจัดการประเด็นต่างๆ ด้านความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในทุกภาคส่วนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจและสอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไปในอนาคต

นับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกในปี 2563 ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งได้รับผลกระทบหนัก ทำให้ผลดำเนินงานที่ผ่านมาหดตัวอย่างหนัก ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากมาตรการปิดเมือง(ล็อกดาวน์) ทำให้จำนวนคนไข้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติลดลงอย่างมาก ขณะที่จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในไทยไม่มากนัก และส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐเป็นส่วนใหญ่

ในขณะที่ปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ (เม.ย.2564) ที่จำนวนยอดติดเชื้อของผู้ป่วยทะลุหลักหมื่นคนต่อวัน จนเกิดวิกฤติด้านสาธารณสุข ซึ่งการแพร่ระบาดระลอกนี้ช่วยพยุงวิกฤตธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไว้ เนื่องจากการรับตรวจหาเชื้อและรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และความต้องการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ส่งผลให้ภาพรวมรายได้โรงพยาบาลเอกชนปี 2564 ปรับตัวดีขึ้น

สะท้อนผ่าน ผลประกอบการ 2 ปีย้อนหลัง (2563-2564) ของทั้ง 2 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในภาคอีสาน ซึ่งมีการปรับตัวดีขึ้นทั้งในแง่ของ “รายได้และกำไรสุทธิ”

บริษัท วัฒนาการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEW

ปี 2563

  • กำไรสุทธิ 1.6 ล้านบาท
  • รายได้รวม 312.6 ล้านบาท

ปี 2564

  • กำไรสุทธิ 8.8 ล้านบาท
  • รายได้รวม 333.2 ล้านบาท

บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน) หรือ RPH

ปี 2563

  • กำไรสุทธิ 93.8 ล้านบาท
  • รายได้รวม 812.5 ล้านบาท

ปี 2564

  • กำไรสุทธิ 403 ล้านบาท
  • รายได้รวม 1,424.6 ล้านบาท

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เผยแพร่บทวิเคราะห์รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมองว่าในปี 2565 และระยะถัดไป รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนอาจมีทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัว ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ สถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงการกลับมาของคนไข้กลุ่ม Medical tourism (การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ)

ทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุน คือ แนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น , จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง , จำนวนผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในปี 2564-2565 , แผนการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาล ทั้งการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่และด้านเครื่องมือการแพทย์ กระแสการใส่ใจสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub (ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ)

อ้างอิง:

​​https://www.set.or.th/…/product/stock/quote/NEW/price

https://www.set.or.th/…/financial…/company-highlights

https://www.bangkokbiznews.com/business/1003440

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top