2 อาณาจักรน้ำนมวัวแห่งใหญ่ ของภาคอีสาน
ในปัจจุบันมีแหล่งเลี้ยงโคนมที่สำคัญอยู่ 4 แห่ง หนึ่งในนั้นคือจังหวัดนครราชสีมา ในภาคอีสานเรานี่เอง การเลี้ยงโคนมแม้มีรายจ่ายค่อนข้างสูง แต่ผลตอบแทนจากการเลี้ยงโคนม จะสูงกว่าการทำนาทำไร่หลายเท่า จึงเป็นการสร้างรายได้ที่ดีของเกษตรกร ทั้งที่มีอาชีพเลี้ยงโคนมโดยตรง และที่เป็นอาชีพเสริม นับว่ามีส่วนช่วยในการ สร้างงานในชนบทของชาติ
วันนี้ ISAN Insight & Outlook จะพามาดู 2 อาณาจักรน้ำนมวัวแห่งใหญ่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่ามีความเป็นมาอย่างไร?
Dairy Home ฟาร์มออร์แกนิกเจ้าแรกของไทย คำว่า ‘โฮม’ เป็นภาษาอีสาน หมายถึงการมารวมกัน ‘แดรี่ โฮม’ นอกจากจะหมายถึงบ้านของนมแล้วยังหมายถึงที่รวมผลิตภัณฑ์นมไว้ด้วยกันอีกด้วย
ก่อนรับบทบาทเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณพฤฒิเคยเป็นนักวิชาการสอนปรับปรุงพันธุ์โคนม ที่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และเคยทำงานอยู่ที่ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านฟาร์มโคนมมายาวนาน 10 กว่าปี กระทั่งปี 2535 เขาลาออกจากงานประจำ เพื่อมาสร้างฝันให้เป็นจริง นั่นคือ อาณาจักรฟาร์มโคนมออร์แกนิก
ในปี 2542 แดรี่โฮม ถือกำเนิดขึ้นด้วยการจำหน่ายนมในขวดแก้ว น้ำนมที่ใช้เป็นนมออร์แกนิก ซื้อจากฟาร์มโคนมที่รู้จักกันให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ แต่ละวันรับนมเพียง 10 ลิตร จากนั้นขยับเพิ่มเป็น 100 ลิตร หลังกระแสการตอบรับดี ส่งเสริมเกษตรกรหน้าใหม่ให้เลี้ยงวัวออร์แกนิก
นอกจากนี้ ทางโรงงานยังเป็น Zero Waste ไม่ปล่อยของเสีย ดูแลสิ่งแวดล้อมครบวงจร โดยแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ให้พนักงานขายเป็นรายได้เสริม ขยะอาหารนำไปเลี้ยงสัตว์ มีโรงงานไบโอดีเซลขนาดเล็ก เพื่อนำน้ำมันที่เหลือจากการทอดอาหาร นำไปผลิตน้ำมันดีเซลเติมรถปิกอัพสำหรับส่งนม
หนึ่งสิ่งที่ทำให้แบรนด์ Dairy Home แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ในท้องตลาด ก็คือ การนำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาสินค้า ซึ่งสินค้าที่ขึ้นชื่อคือ นม Bed Time ที่ช่วยให้หลับสบาย เป็นหนึ่งในสินค้าที่ใช้งานวิจัยเข้ามาพัฒนาสูตรด้วย
ฟาร์มโชคชัย ดินแดนแห่งคาวบอยเมืองไทย ก่อตั้งในปี 2500 โดยคุณโชคชัย บูลกุล ตั้งอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คุณโชคชัย
เป็นผู้ที่ชื่นชอบวิถีชีวิตแบบคาวบอยมาตั้งแต่เด็กและใฝ่ฝันจะเห็นฝูงโคตัวใหญ่ พร้อมกับเห็นฝูงม้าที่มีคาวบอยขี่
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกนั้นคุณโชคชัยทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จัดหาเครื่องจักรกล และอุปกรณ์ก่อสร้างให้แก่กองทัพอากาศอเมริกัน ในปี 2512 บริษัทได้บุกเบิกกิจการฟาร์มโคเนื้อจนถึงปี 2519 ฟาร์มโชคชัยประสบปัญหาการผลิต ทำให้ผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจโคนม จนได้สร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมขึ้น ในปี 2535 เจอวิกฤตอีกครั้งทำให้มีหนี้สินกว่า 500 ล้านบาท จึงต้องขายธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์นมเพื่อนำเงินมาชำระหนี้สินในปี 2537 โดยคงไว้แต่เพียงธุรกิจหลักคือ ฟาร์มโคนม
หลังจากนั้นคุณโชค บูลกุล ลูกชายของคุณโชคชัย บูลกุล ได้เข้ามาบริหารงานต่อทำการปฏิรูประบบจัดการของฟาร์มโชคชัย โดยการพยายามสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มฟาร์มโชคชัยผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า
ปัจจุบัน ฟาร์มโชคชัย ทำธุรกิจลักษณะการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีกิจกรรมสันทนาการ มีร้านอาหารและที่พักให้บริการนักท่องเที่ยว
จะเห็นได้ว่าทั้งสองแบรนด์มีจุดเด่นที่เป็นจุดขายของแต่ละแบรนด์และมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนทำให้แบรนด์มีการเติบโตและสามารถสร้างรายได้ให้มากมาย มีทั้งการปรับตัวแม้ว่าจะมีอุปสรรคเข้ามาและมองหาโอกาสใหม่ๆ สำหรับการทำธุรกิจให้แตกต่างและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
อ้างอิงจาก:
https://becommon.co/life/idea-dairy-home/
https://data.creden.co/company/general/0305547001322
https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_73574
https://www.thepeople.co/read/business/6038
https://data.creden.co/company/general/0105521023304
https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=12&chap=5&page=t12-5-infodetail07.html
https://www.longtunman.com/8162
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #แดรี่โฮม #DairyHome #ฟาร์มโชคชัย #FarmChokchai