ชวนเบิ่ง
ราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ปรับสูงขึ้น ในเดือนพฤษภาคม
สินค้าเกษตรมีการปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากภาวะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดยสินค้าเกษตรที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
1.ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ
ราคาที่เกษตรกรขายได้ 12,832 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 9% เนื่องจากมีความต้องการข้าวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น (อิรัก อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย) โดยเฉพาะประเทศอิรักซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของประเทศไทยได้กลับมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น หลังจากหยุดนำเข้าข้าวจากไทยหลายปี
2. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ราคาที่เกษตรกรขายได้ 10.3 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6.2% เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นมีราคาสูง แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนําออกสู่ตลาดในเดือนเมษายน- พฤษภาคมและอนุญาตให้นําเข้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ
3. มันสำปะหลัง
ราคาที่เกษตรกรขายได้ 2.5 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.6% เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้มันสำปะหลังในประเทศและส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้สินค้าธัญพืชขาดแคลน ทำให้มีความต้องการ ใช้มันสำปะหลังเพื่อเป็นสินค้าทดแทนเพิ่มขึ้น
4. ปาล์มน้ำมัน
ราคาที่เกษตรกรขายได้ 10.1 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.8% เนื่องจากปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มของโลกลดลง และความต้องการน้ำมันปาล์มของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่น้ำเข้าน้ำมันพืชรายใหญ่ที่สุดของโลกเพิ่มขึ้น
5. สุกร
ราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 97.3 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7.4% เนื่องจาก ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทําให้เกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลก และต้นทุน ป้องกันโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เกษตรกรผู้เลียงสุกรต้องลงทุน ในการพัฒนาระบบป้องกันโรคระบาดในฟาร์มอย่างเข้มงวด ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงสูงขึ้น
6. โคเนื้อ
ราคาที่เกษตรกรขายได้ เท่ากับ 35,089 บาท/ตัว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.4% เนื่องจาก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร ทยอยกลับมาเปิดให้บริการ รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร และธุรกิจเกี่ยวเนื่องสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์รวมทั้งเนื้อโคเพิ่มขึ้น
แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลังจากนี้
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. เผย “ราคาสินค้าเกษตร” หลังจากนี้ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการเปิดประเทศ เปิดสถานบันเทิง และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ ปาล์มน้ำมัน สุกร โคเนื้อ และกุ้งขาว แวนนาไม ยกเว้นมันสำปะหลัง และยางพาราดิบที่มีแนวโน้มราคาปรับลดลง
อ้างอิงจาก:
https://www.oae.go.th/view/1/ดัชนีราคาและผลผลิต/TH-TH
https://www.baac.or.th/file-upload/016513-1-Download.pdf
https://www.bangkokbiznews.com/news/1007851
https://www.thailandplus.tv/archives/530529
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ราคาสินค้าเกษตร