มันฝรั่ง พืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ ที่อีสานก็ปลูกได้ผลผลิตดีบ่แพ้กัน

เคยสงสัยไหมว่า “มันฝรั่ง” วัตถุดิบหลักในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดที่หลายคนชื่นชอบนั้น มีต้นกำเนิดมาจากไหน สถานการณ์การผลิตในประเทศเป็นอย่างไร และทำไมจึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรในอีสานหันมาปลูกมันฝรั่งมากขึ้น อีสานอินไซต์จะเล่าให้ฟัง
.
👉 มันฝรั่งมาจากไหน ?
.
เชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดของมันฝรั่งคืออเมริกาใต้ โดยมีบันทึกไว้ว่าเปรูมีมันฝรั่งมากกว่า 4,000 ชนิด และในยุคที่สเปนแสวงหาอาณานิคมมาถึงเปรูราวปี ค.ศ.1536 ก็ได้เอาหัวมันฝรั่งกลับไปประเทศตัวเอง เช่นเดียวกับพืชพื้นเมืองชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด โกโก้ มะเขือเทศ และพริก ก่อนจะเริ่มกระจายไปทั่วยุโรปราวศตวรรษที่ 16 รวมถึงในทวีปอเมริกาที่ส่งผ่านเรือสเปนไปขึ้นฝั่งที่นิวแฮมเชียร์ในปี ค.ศ.1719
.
สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่ามันฝรั่งเข้ามาได้อย่างไร แต่คาดว่าเข้ามาในช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยพันธุ์ที่ถูกพบครั้งแรกและเป็นพันธุ์พื้นเมืองเรียกว่า “อาลู” (เป็นคำที่ชาวเมืองเรียกมันฝรั่ง)
.
👉 แหล่งเพาะปลูกมันฝรั่งของไทย
.
ปัจจุบัน มันฝรั่งจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดตาก เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา และลำพูน ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นเหมาะแก่การเพาะปลูก รวมไปถึงบางพื้นที่ของภาคอีสาน เช่น จังหวัดนครพนม
.
👉 มันฝรั่ง แบ่งตามการใช้ประโยชน์ได้ 2 ประเภท
.
1. พันธุ์บริโภค (นำมาปรุงอาหารเพื่อการบริโภค) ได้แก่ พันธุ์สปันตา (Spunta) อายุปลูกถึงเก็บเกี่ยว 100-120 วัน เจริญเติบโตเร็ว ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ให้ผลผลิตสูง และพันธุ์บินท์เจ (Bintje) เจริญเติบโตเร็ว ทนต่อความแห้งได้ดี
.
2. พันธุ์โรงงาน สำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ (Potato Chips) มันฝรั่งทอดหนา (French Fried) ได้แก่ พันธุ์เคนนีเบค (Kennebec) ให้ผลผลิตสูงปานกลาง และพันธุ์แอตแลนติก (Atlantic) ให้ผลผลิตสูง จึงเป็นพันธุ์ที่มีการปลูกมากที่สุดในไทย มีความสำคัญในด้านเป็นพืชอุตสาหกรรม
.
👉 สถานการณ์การเพาะปลูกในไทย
.
ปี 2560 – 2564 พื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งและผลผลิตมันฝรั่งโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยมันฝรั่งพันธุ์บริโภคมีพื้นที่เพาะปลูกลดลง จาก 2,376 ไร่ ในปี 2560 เหลือ 1,041 ไร่ ในปี 2564 ส่วนพันธุ์โรงงานมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น จาก 35,482 ไร่ ในปี 2560 เป็น 38,924 ไร่ ในปี 2564
.
ทั้งนี้ ในปี 2565 คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3.22% จากปี 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการแปรรูปมีความต้องการใช้มันฝรั่งเพิ่มขึ้น ทำให้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมากขึ้น
.
👉 สถานการณ์การนำเข้า-ส่งออก
.
ปี 2564 ไทยเป็นผู้นำเข้ามันฝรั่งอันดับ 12 ของโลก มูลค่า 32.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.76% จากปี 2563 โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามันฝรั่งสดหรือแช่เย็น และมันฝรั่งใช้สำหรับการเพาะปลูก
.
แหล่งนำเข้าสินค้ามันฝรั่งที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. จีน (33.15% ของการนำเข้าสินค้ามันฝรั่งทั้งหมด) 2. เยอรมนี (27.40%) 3. แคนาดา (12.85%) 4. สหราชอาณาจักร (12.22%) และ 5. ออสเตรเลีย (6.55%)
.
การส่งออก อันดับ 34 ของโลก มูลค่า 1.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 395.52% จากปี 2563 โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกมันฝรั่งสดหรือแช่เย็น และมันฝรั่งใช้สำหรับการเพาะปลูกเช่นเดียวกับการนำเข้า
.
ตลาดส่งออกสินค้ามันฝรั่งที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย (47.94% ของการส่งออกสินค้ามันฝรั่งทั้งหมด) ศรีลังกา (16.30%) สปป. ลาว (13.87%) เมียนมา (9.69%) และฮ่องกง (9.34%)
.
👉 ข้อจำกัดด้านการผลิต
.
เนื่องจากมันฝรั่งเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น ทำให้พื้นที่การเพาะปลูกจำกัดในบริเวณภาคเหนือและภาคอีสานที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมเท่านั้น
.
ประกอบกับหัวพันธุ์มันฝรั่งนำเข้ามีราคาแพงทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูง ขณะที่หัวพันธุ์มันฝรั่งที่ภาครัฐผลิตเพื่อจำหน่ายก็ยังมีปริมาณน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ส่งผลให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศค่อนข้างต่ำ
.
👉 โอกาสในการปลูกมันฝรั่งของภาคอีสาน
.
การปลูกมันฝรั่งของภาคอีสานมักปลูกทดแทนการปลูกข้าวนาปรังหลังฤดูทำนา และปลูกเฉพาะมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน (สำหรับแปรรูป)
.
ความน่าสนใจอยู่ที่ “จังหวัดนครพนม” แม้จะไม่ได้มีเนื้อที่เพาะปลูกมันฝรั่งโรงงานมากที่สุดในไทย แต่ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ต่อไร่กลับมากถึง 4,246 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าทุกจังหวัดและค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
.
ดังนั้น ภาครัฐจึงควรส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น โดยอาจร่วมมือกับภาคเอกชนเร่งพัฒนาหัวพันธุ์มันฝรั่งที่จะจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนการผลิตจากการนำเข้าหัวพันธุ์บางส่วนจากต่างประเทศ
.
รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน และมีความมั่นคงในอาชีพ ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ประกอบการแปรรูปได้รับสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปริมาณตามที่กำหนด ส่งผลให้ทุกภาคส่วนมีความมั่นใจที่จะพัฒนาผลผลิต เทคโนโลยี ตลอดจนขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
.
ทั้งนี้ ผู้ปลูกควรศึกษาข้อมูลการปลูกให้รอบด้าน โดยเฉพาะความเหมาะสมของอุณหภูมิในพื้นที่ปลูก การให้น้ำ ใส่ปุ๋ย และการป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่เป็นศัตรูของมันฝรั่ง
.
.
อ้างอิงจาก :
https://kku.world/3yld9
https://kku.world/177jf
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #มันฝรั่ง

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top