“ข้าว” สินค้าส่งออกหลักของไทย ที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด ครอบคลุมครัวเรือนกว่า 4.9 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ รอบปีเพาะปลูก 2562/63 มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 68.54 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ตามลำดับ
.
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยปีละ 31-33 ล้านตัน ซึ่งนำไปสีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 20-22 ล้านตัน โดยใช้บริโภคภายในประเทศเฉลี่ย 11 ล้านตัน ส่วนที่เหลือมีทั้งส่งออกและสต๊อก
.
แบ่งเป็น ข้าวเพื่อใช้บริโภคโดยตรง มีสัดส่วน 60-70% และ ข้าวเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แป้งข้าว ขนมขบเคี้ยวจากข้าว การผลิตไฟฟ้าชีวมวล และการผลิตเอทานอล เป็นต้น มีสัดส่วน 30-40% ของความต้องการบริโภคข้าวในประเทศทั้งหมด
.
ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในปี 2563 มีโครงสร้างดังนี้
.
– ข้าวขาว มีปริมาณการค้าสูงสุดในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 2.24 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 39.1% ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกหลักอยู่ในภูมิภาคแอฟริกา และเอเชีย โดยส่งออกไปยังประเทศแองโกลาสูงสุดที่ 14.3% รองลงมาเป็นญี่ปุ่น (10.9%) โมซัมบิก (8.6%) แคเมอรูน (7.6%) และสหรัฐฯ (6.4%) ตามลำดับ
.
– ข้าวนึ่ง ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1.45 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 25.3% ตลาดส่งออกหลักอยู่ในภูมิภาคแอฟริกา โดยส่งออกไปยังประเทศแอฟริกาใต้สูงถึง 44.6% รองลงมาเป็นเบนิน (25.4%) เยเมน (8.4%) แคเมอรูน (4.9%) และโตโก (2.7%) ตามลำดับ
.
– ข้าวหอมมะลิ ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1.19 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 20.7% ตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐฯ (41%) รองลงมาเป็นจีน (11.6%) ฮ่องกง (10.8%) และแคนาดา (6.8%) ตามลำดับ
.
– ปลายข้าว เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแป้งและอาหารสัตว์ ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 5.9 แสนตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 10.3% ตลาดส่งออกหลัก คือ เซเนกัล (18%) รองลงมาเป็นจีน (17.5%) อินโดนีเซีย (14.7%) และโกตดิวัวร์ (13.3%) ตามลำดับ
.
– ข้าวเหนียว ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1.4 แสนตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ตลาดส่งออกหลัก คือ จีน (37.8%) รองลงมาเป็นสหรัฐฯ (15.4%) สปป.ลาว (12.9%) และญี่ปุ่น (5.4%) ตามลำดับ
.
– ข้าวกล้องและข้าวอื่น ๆ ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1.2 แสนตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 2.0% ตลาดส่งออกหลัก คือ เกาหลีใต้ (25.7%) รองลงมาเป็นแองโกลา (21.4%) สหรัฐฯ (10.1%) และเนเธอร์แลนด์ (7.8%) ตามลำดับ
.
ปี 2565-2567 อุตสาหกรรมข้าวไทยมีแนวโน้มเป็นอย่างไร
.
วิจัยกรุงศรี มองว่า ช่วงปี 2565-2567 ผลผลิตข้าวไทย มีทิศทางขยายตัวเล็กน้อย 2-3% อยู่ที่ระดับ 30.3-32.3 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี หรือประมาณ 19.7-21 ล้านตันข้าวสาร โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศ ปริมาณฝน และน้ำในเขื่อนที่คาดว่าจะเอื้ออำนวย และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกษตรกรบางรายขยายหรือเพิ่มรอบการเพาะปลูก
.
ความต้องการบริโภคในประเทศคาดว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.9 ล้านตันข้าวสารในปี 2564 (2563/2564) สู่ระดับ 11-11.5 ล้านตันในปี 2567 จากสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลายและมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น หนุนอุตสาหกรรมอาหาร โรงแรม อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ ฟื้นตัว มีความต้องการข้าวเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปอาหารมากขึ้น
.
การส่งออกข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากระดับ 5.1 ล้านตันในปี 2564 มาอยู่ที่ประมาณ 9.5 ล้านตันในปี 2567 จากความต้องการที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่ในช่วงปี 2565-2566 จะยังไม่สูงนัก เนื่องจากราคายังคงสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างอินเดีย และเวียดนาม ซึ่งมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงจึงมีต้นทุนต่ำกว่า
.
ด้านราคาส่งออกข้าวของไทย คาดว่ายังปรับลดลงต่อเนื่องจากแรงกดดันด้านอุปทาน ทั้งผลผลิตข้าวในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และสต๊อกข้าวโลกที่คาดว่ายังอยู่ในระดับสูง
.
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการวิจัยพันธุ์ข้าวและสนับสนุนงบประมาณการวิจัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สายพันธุ์ข้าวมีความหลากหลาย ไม่ขาดแคลน และเพิ่มผลิตภาพในการปลูกข้าวให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในระยะยาวได้
.
.
อ้างอิงจาก:
https://kku.world/o2fg1
https://kku.world/rbwr8
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ข้าว #ส่งออกข้าว