ทำไม สกลนคร คือศูนย์กลางของสมุนไพร และการแพทย์แผนไทยแห่งอนาคต ?

สมุนไพร เป็นพืชที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างช้านาน ได้สั่งสมความรู้เรื่องการใช้พืชสมุนไพรในการรักษาโรค ดูแลสุขภาพ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น สมุนไพรจึงกลายเป็นมากกว่าเพียงแค่ยารักษาโรค แต่เป็นวัฒนธรรมทางการแพทย์ที่สะท้อนถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สมุนไพรนั้นพบได้ทั่วภูมิภาคในประเทศ เช่นเดียวกันกับภาคอีสาน ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ทำให้พบสมุนไพรได้หลายชนิดในธรรมชาติ มีการปลูกและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย


โครงการเมืองสมุนไพรจังหวัดสกลนคร

 

สกลนคร จังหวัดในภาคอีสานตอนบนที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ หรือเทือกเขาภูพาน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พบสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน คราม เป็นต้น ซึ่งนอกจากสมุนไพรธรรมชาติแล้ว เกษตรกรในจังหวัดก็มีการปลูกสมุนไพรกันมาช้านาน และมีการแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ โดยในช่วงปี 2557 – 2565 มีผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทสมุนไพร ทั้งสิ้น 257 ผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น สบู่สมุนไพรไทบรู เป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ไทบรูใน อ.พรรณานิคม ชาย่านาง และผลิตภัณฑ์เพื่อการผ่อนคลาย เช่นลูกประคบ หรือน้ำมันนวด เป็นต้น

 

อีกศักยภาพสมุนไพรของสกลนคร มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้ช่วยแพทย์แผนไทยที่ได้รับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพร โดยมีเครือข่ายอินแปงและกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรรวมตัวเป็นสหกรณ์สมุนไพรสกลนครเพื่อจัดหาวัตถุดิบ นอกจากนี้ยังมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีสวนสาธิตสมุนไพร อาคารแปรรูป และเครือข่ายผู้ปลูกสมุนไพร

 

โดยการปลูกพืชสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยของสกลนคร ได้ถูกผลักดันอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559 จากนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาพืชสมุนไพร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน จากศักยภาพของสกลนคร ส่งผลให้จังหวัด ได้ถูกคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดปราจีนบุรี เชียงราย สกลนคร และสุราษฏร์ธานี ให้เป็น ‘เมืองแห่งสมุนไพร’ 

 

โครงการเมืองสมุนไพรสกลนครขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน คือ 1) การส่งเสริมวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพ 2) การพัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาด 3) การส่งเสริมการใช้สมุนไพรในระบบสุขภาพ และ 4) การสร้างความเข้มแข็งด้านนโยบายและการบริหารจัดการ โดยมีความคืบหน้าเด่นชัดในด้านต่างๆ ดังนี้

 

  • ต้นน้ำ (การเพาะปลูก):

  • มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพ เช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ไพล และพืชสมุนไพรที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยเน้นการพัฒนาสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย และมีสารสำคัญในปริมาณที่เหมาะสม ดังตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนา “ฟ้าทะลายโจร” ภายใต้แบรนด์ “ภูพานไพล” โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ที่สามารถเพิ่มสารแอนโดรกราโฟไลด์ให้สูงขึ้น สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม

 

  • กลางน้ำ (การแปรรูป):

  • โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการรับวัตถุดิบสมุนไพรจากเกษตรกรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

 

  • ปลายน้ำ (การตลาดและบริการ):

  • มีความพยายามในการสร้างแบรนด์และขยายช่องทางการตลาด ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ มีการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ตลาดสากล นอกจากนี้ ยังมีการนำสมุนไพรมาใช้ในระบบบริการสุขภาพมากขึ้น ทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เชื่อมโยงกับวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

การผลักดันอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ได้กำหนดโครงการ “เมืองสมุนไพร” (Herbal City) คือหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย เพื่อผลักดันให้จังหวัดที่มีศักยภาพเป็นแหล่งผลิตและพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยกระดับสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จากเดิมที่มีการเริ่มต้นในไม่กี่จังหวัด ปัจจุบันได้มีการกำหนดรายชื่อและทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนขึ้น

 

เมืองสมุนไพร มีทั้งสิ้นจำนวน 16 จังหวัด แบ่งตามกลุ่มยุทธศาสตร์ (Cluster) ที่มีจุดเน้นแตกต่างกัน 3 ด้าน ได้แก่ 1. คลัสเตอร์เกษตรและวัตถุดิบสมุนไพร 2. คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสมุนไพร 3. คลัสเตอร์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม และการแพทย์แผนไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยสกลนครนั้นก็ได้ถูกคัดเลือกให้อยู่ใน คลัสเตอร์เกษตรและวัตถุดิบสมุนไพร ร่วมกับจังหวัด มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุทัยธานี และสระแก้ว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มุ่งเน้นการเป็นแหล่งเพาะปลูกและผลิตวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพสูงป้อนเข้าสู่ตลาดและอุตสาหกรรม

 

ในปี 2568 สกลนครยังคงมุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางสมุนไพรอย่างจริงจัง โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 568 กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงการคลัง และ สส. จังหวัดสกลนคร จัดอบรม “โครงการพัฒนายกระดับสมุนไพรสู่ตลาดสากล” ที่จังหวัดสกลนคร 

 

โดยนายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการสมุนไพรในท้องถิ่นให้สูงขึ้น ทั้งในด้านองค์ความรู้ การสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์การต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า และการขยายตลาดสู่สากล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน และยังกล่าวว่า การขับเคลื่อนจังหวัดสกลนครสู่การเป็นศูนย์กลางสมุนไพรของประเทศนั้น ถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่เราสามารถร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ไม่ใช่เป้าหมายที่ไกลเกินจริง

ตัวอย่างการดำเนินงาน:

  • การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเมืองสมุนไพรสกลนคร
  • การส่งเสริมการปลูกสมุนไพรในพื้นที่
  • การแปรรูปสมุนไพรที่โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้นฯ
  • การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเป็นระบบ
  • การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
  • การพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทย

 

ที่มา:

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top