ส่องธุรกิจในเครือ ‘เอราวัณ’ แห่ง หนองบัวลำภู น้ำตาล ขนส่ง และผลิตไฟฟ้า กวาดรายได้รวมกว่า 7 พันล้านบาท

 

จังหวัดหนองบัวลำภูมีพื้นที่ประมาณ 3,859 ตารางกิโลเมตร (2,411,875 ไร่) ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นที่ราบสูงและที่ราบลุ่ม ประกอบกับสภาพภูมิอากาศแบบเขตร้อนที่มีฤดูฝนและฤดูแล้ง ทำให้เหมาะสมกับการปลูกอ้อยเป็นอย่างมาก ดินในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อ้อยสามารถเจริญเติบโตได้ดี

 

ปี 2567/2568 จังหวัดหนองบัวลำภู มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั้งสิ้น 335,806 ไร่ (14% ของพื้นที่จังหวัด) มากเป็นอันดับ 6 จาก 20 ของภาคอีสาน มีปริมาณอ้อยทั้งสิ้น 3,264,034 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 9.72 ตันต่อไร่ อ้อยเป็นแหล่งรายได้หลักของเกษตรกรในจังหวัดหนองบัวลำภูซึ่งปลูกกันทุกอำเภอ โดยแต่ละอำเภอมีพื้นที่ปลูกอ้อยดังนี้

  • อำเภอศรีบุญเรือง 122,470 ไร่
  • อำเภอเมืองหนองบัวลำภู 69,245 ไร่
  • อำเภอนากลาง 61,640 ไร่
  •  อำเภอสุวรรณคูหา 32,084 ไร่
  •  อำเภอโนนสัง 6,091 ไร่

 

อุตสาหกรรมอ้อยในจังหวัดสร้างงานให้กับคนในพื้นที่นับหมื่นคน ตั้งแต่การปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว การขนส่ง ไปจนถึงการแปรรูป โดยหนองบัวลำภูนั้น มีโรงงานผลิตน้ำตาลทรายจากอ้อยรายใหญ่อย่าง ‘บริษัท น้ำตาล เอราวัณ จำกัด’ เป็นนิติบุคคลประเภทธุรกิจ : 10722 (การผลิตน้ำตาลบริสุทธิ์) ที่มีรายได้มากที่สุดในอีสาน 

โดยบทความนี้ อีสาน อินไซต์ จะพามาส่องเบิ่ง กลุ่มธุรกิจในเครือเอราวัณ ที่นอกเหนือจากผลิตน้ำตาล ก็ยังมีธุรกิจประเภทอื่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดหนองบัวลำภู

 

บริษัท น้ำตาล เอราวัณ จำกัด 

 

เป็นนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายดิบ น้ำเชื่อมและผลิตภัณฑ์จากการผลิตน้ำตาลทุกชนิด ตั้งอยู่ เลขที่ 111 หมู่ที่ 12 ตำบลนากลาง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 6,138 ล้านบาท มีรายได้ 7,443 ล้านบาท และกำไร 962 ล้านบาท สูงที่สุดในบรรดานิติบุคคลสาขา การผลิตน้ำตาลน้ำตาลบริสุทธิ์ ในภาคอีสาน 

 

โดยนอกจากผลิตผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลแล้วนั้น กลุ่มบริษัทเอราวัณมีศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ทำงานด้านการวิจัยอย่างครบวงจร ซึ่งประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อย การผลิตวัสดุปรับปรุงดิน โครงการผลิตอ้อยสะอาดปลอดโรคใบขาว และการพัฒนาเครื่องมือการเกษตร

 

ซึ่งการลงทุนในส่วนนี้สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทไม่ได้มุ่งเน้นเพียงกำไรในระยะสั้น แต่ต้องการสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่แข็งแกร่งตั้งแต่ต้นน้ำ (เกษตรกร) ไปจนถึงปลายน้ำ (โรงงาน) ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งบริษัท เกษตรกรคู่สัญญา และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

 

กลุ่มบริษัทอื่น ในเครือ น้ำตาลเอราวัณ

นอกจากโรงงานผลิตน้ำตาลแล้ว น้ำตาลเอราวัณยังได้เล็งเห็นโอกาสในการนำกากอ้อยที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลและพลังงานไอน้ำ จึงได้ริเริ่มก่อตั้ง บริษัท เอราวัณเพาเวอร์ จำกัด’ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549

บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อยและจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยเริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 166 ล้านบาท มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 8 เมกะวัตต์ และผลิตไอน้ำได้ 300 ตัน/ชั่วโมง ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ขยายกำลังการผลิตจนมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 72 เมกะวัตต์ และสามารถผลิตไอน้ำได้ 800 ตันต่อชั่วโมง พร้อมทั้งเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 700 ล้านบาท

 

ด้านผลการดำเนินงาน ในปี 2566 บริษัท เอราวัณเพาเวอร์ จำกัด สามารถสร้างรายได้รวม 1,171 ล้านบาท จัดอันดับที่ 4 ของภาคอีสาน ซึ่งมีเพียง 4 บริษัทเท่านั้นที่มีรายได้เกินพันล้านบาท จากนิติบุคคลประเภท 35101 (การผลิตและการส่งไฟฟ้า) ทั้งหมด 252 บริษัทในภาคอีสาน พร้อมทั้งสร้างกำไร 106 ล้านบาท

นอกจากนั้นบริษัทในเครือเอราวัณยังมีธุรกิจประเภทโลจิสติกส์ ได้แก่ ‘บริษัท เอ็น.อี.โลจิสติกส์ จำกัด’ เป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบริษัทน้ำตาลเอราวัณ จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้บริการสนับสนุนแก่บริษัทน้ำตาลเอราวัณ จำกัด และเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่เป็นพันธมิตรของโรงงาน

 

บริษัทฯ ให้บริการครบวงจรตั้งแต่การขนส่งสินค้า อ้อย ปุ๋ย และสารปรับปรุงดิน ไปจนถึงบริการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การจัดหาพันธุ์อ้อย การปลูกอ้อย การเก็บเกี่ยวอ้อย และการส่งมอบเข้าโรงงาน เพื่อให้ได้อ้อยคุณภาพสูงและสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ด้านผลประกอบการ บริษัทมีรายได้ 459 ล้านบาท และกำไร 2.1 แสนบาท

 

3 บริษัท รายได้รวมกว่า 7 พันล้าน

กลุ่มบริษัทน้ำตาลเอราวัณประกอบด้วย 3 บริษัทหลัก ได้แก่ 1) บริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด 2) บริษัท เอราวัณเพาเวอร์ จำกัด และ 3) บริษัท เอ็น.อี.โลจิสติกส์ จำกัด

เมื่อรวมผลการดำเนินงานของทั้ง 3 บริษัท พบว่ามีรายได้รวมกันกว่า 7,303 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 21% ของรายได้รวมของนิติบุคคลทั้งหมดในจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมทั้งสร้างกำไรรวม 1,067 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและบทบาทของกลุ่มบริษัทน้ำตาลเอราวัณต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดหนองบัวลำภู ทั้งในด้านการสร้างรายได้ การจ้างงาน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มบริษัทแห่งนี้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยิ่ง

 

ที่มา

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top