ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง หากคุณเป็นคนที่สนใจธุรกิจในภาคอีสานก็อาจต้องทำความรู้จักเศรษฐกิจของภูมิภาคตั้งแต่อดีต ว่ามีพัฒนาการและจุดเปลี่ยนสำคัญ (Journey) อะไร ที่ทำให้เห็นเป็นโครงสร้างอย่างในปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางหรือโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
.
.
⏲︎ 2504-2517: ยุคส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ
.
นโยบายส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกและการเข้ามาของเทคโนโลยีการเกษตร ทำให้พื้นที่ป่าในภาคอีสานลดลงเหลือเพียง 30% ของพื้นที่ทั้งภาค โดยเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อการค้ามากขึ้น
.
ช่วงระหว่างปี 2514-2517 มีการปฏิวัติพืชไร่ครั้งใหญ่ ภาครัฐได้ส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย ทำให้ตั้งแต่ปี 2514 เกิดโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง และโรงงานน้ำตาล กระจายตามแหล่งเพาะปลูกสำคัญ อีกทั้งเริ่มมีการศึกษาทุ่งกุลาร้องไห้บริเวณอีสานตอนใต้ ซึ่งเป็นทุ่งโล่ง แห้งแล้ง และดินเค็ม เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีสำหรับการส่งออก
.
.
⏲︎ 2518-2538: การค้า บริการ และอุตสาหกรรมเติบโตดี
.
ตั้งแต่ปี 2518-2538 เศรษฐกิจอีสานเติบโตดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการค้า
.
ปี 2531 ได้รับประโยชน์จากนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ทำให้เกิดการค้าขายกับประเทศในกลุ่มอินโดจีน (ค้าชายแดน) มากขึ้น
.
แต่ปี 2538 เกิดการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยพึ่งพาภาคเกษตรในสัดส่วนสูงถึงประมาณ 50% เหลือเพียง 20% ของเศรษฐกิจอีสาน โดยภาคการค้าและภาคบริการเริ่มมีบทบาทสำคัญ ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็เริ่มขยายตัว จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่ให้สิทธิประโยชน์กับเขตอุตสาหกรรมในภูมิภาคมากขึ้น โดยมีจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นกว่า 23 เท่าจากปี 2518
.
นอกจากนี้ การตั้งเขตอุตสาหกรรมสุรนารีที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในอีสาน ทำให้โครงสร้างการผลิตเปลี่ยน จากโรงงานเกษตรขั้นพื้นฐานอย่างโรงสีข้าว โรงงานแป้งมัน และโรงงานปอ เป็นโรงงานแปรรูปเกษตรที่มีเครื่องจักรทันสมัยมากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและอุตสาหกรรมที่รับช่วงการผลิตจากส่วนกลางเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น
.
.
⏲︎ 2539-2550: สะพานมิตรภาพ 1-2 หนุนการค้ากับลาว ภาคอุตสาหกรรมทันสมัยขึ้น และยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่
.
การสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ.หนองคาย ในปี 2537 และแห่งที่ 2 จ.มุกดาหาร ในปี 2549 ส่งผลให้การค้าชายแดนกับลาวเพิ่มขึ้น และยังพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรให้ทันสมัย โดยเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร และผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น เช่น โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังที่หันมาผลิตมันเส้นที่มีคุณภาพ รวมทั้งแป้ง Modified Starch ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และโรงสีข้าวที่เปลี่ยนมาผลิตข้าวคุณภาพดี เป็นต้น
.
นอกจากนี้ ยังมีการย้ายฐานการผลิตโรงงานน้ำตาลจากภาคกลางและตะวันออกมายังอีสานมากขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกอ้อยได้อีกมาก
.
ปี 2548 นิคมอุตสาหกรรมนวนครที่ จ.นครราชสีมา เปิดดำเนินการแห่งที่ 2 ซึ่งเน้นผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เป็น Supply Chain ให้อุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้นครราชสีมากลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของอีสาน
.
ปี 2547-2549 ยางพารากลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ตามโครงการยางล้านไร่ ทำให้พื้นที่ปลูกยางในอีสานขยายตัวอย่างรวดเร็ว จาก 5.6 แสนไร่ ช่วงก่อนปี 2547 เป็น 5.2 ล้านไร่ ในปี 2561 มากเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศรองจากภาคใต้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังไปดึงโรงงานแปรรูปยางพาราจากภาคใต้และประเทศจีนมาตั้งในแหล่งผลิตสำคัญด้วย
.
.
⏲︎ 2551-2560: การค้ากับต่างประเทศเฟื่องฟู มีการเข้ามาของธุรกิจขนาดใหญ่และการย้ายฐานการผลิต ทำให้อสังหาฯ โต
.
ปี 2554 เร่งการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะหลังเปิดสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ที่ จ.นครพนม ทำให้เกิดเส้นทางการค้าทางถนนแห่งใหม่ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้ได้สั้นกว่าทุกเส้นทาง ส่งผลให้อีสานเป็นช่องทางการค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะผลไม้ไทย รวมถึงสินค้าด้านเทคโนโลยีของจีนและเวียดนาม โดยมูลค่าการค้ากับจีนขยายตัวกว่า 4 เท่า ขณะที่กับเวียดนามขยายตัวถึง 7 เท่า ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมายังอีสาน
.
นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมเปิด AEC ในปี 2558 และการเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่ม CLV (กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม) หลังเข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้การส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสาขาอื่น ๆ รวมถึงภาคการค้า ทำให้ห้างสรรพสินค้าและ ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาในพื้นที่ทั้งกลุ่มคนทำงานและนักลงทุน ส่งผลดีต่อเนื่องถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอาคารชุดที่ขยายตัวสูงในปี 2555-2556
.
อย่างไรก็ตาม นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในปี 2556 ส่งผลให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปบางส่วนย้ายฐานการผลิตไปกัมพูชาและเวียดนาม
.
.
⏲︎ 2563-2564: COVID-19 ส่งผลกระทบจำกัดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น
.
เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยภาคเกษตร ภาคการค้า และบริการ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีสัดส่วนน้อย และส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีแรงงานอีสานคืนถิ่นประมาณ 8 แสนคน ซึ่งมากกว่าภูมิภาคอื่น
.
.
อ้างอิง: บทความ ย้อนรอยเส้นทางเศรษฐกิจ 3 ภูมิภาค…ไม่อ่าน ไม่รู้ Regional Letter ฉบับที่ 2/2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย
และ บทความ โควิดทุเลา แรงงานบ้านเฮาสิเฮ็ดเกษตรจังได๋ Regional Letter ฉบับที่ 4/2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย