ชวนเบิ่ง การใช้ไฟฟ้าของคนในภาคอีสาน

เห็นได้ว่าในช่วงนี้ มีการขึ้นค่า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค. 2565 ด้วยการขึ้นค่าไฟ 4.72 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือปรับขึ้น 17% จากค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย

วันนี้ ISAN insight & Outlook จะพามาดูการใช้ไฟฟ้าของคนในภาคอีสานว่ามากน้อยเพียงใด

ในโลกยุคดิจิทัล ไฟฟ้าแทบจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตเลยทีเดียว เพราะชีวิตของเราต้องพึ่งพาพลังงานจากไฟฟ้าแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่การให้แสงสว่าง การทำความเย็น การประกอบอาหาร การเดินทาง รวมไปถึงการติดต่อสื่อสารผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ดังนั้น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจึงเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถเจาะลึกไปถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า และความเป็นอยู่ของทุกครัวเรือนไทย นอกจากจะมีความสำคัญโดยตรงต่อธุรกิจไฟฟ้าแล้ว ข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้ายังมีประโยชน์ในแง่ของการกำหนดนโยบายต่างๆ อีกด้วย

อีสานบ้านเรามีการใช้ไฟฟ้ากันมากไหม?

ภาพรวมของภาคอีสานในปี 2564 พลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายและใช้จำนวน 23,138 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง มีสัดส่วนอยู่ที่ 17% ของประเทศไทย ซึ่งเป็นรองภาคกลาง มีพลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายและใช้อยู่ที่ 80,724 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นสัดส่วน 59.2% ของประเทศไทย รองลงมาเป็น ภาคเหนือ 12.1% และภาคใต้ 11.8% ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาการใช้ไฟฟ้าเป็นประเภทในภาคอีสาน พบว่า การใช้ไฟฟ้าในบ้านอยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42.4% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด รองลงมา คือ กิจการขนาดใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 25.2% และใช้ไฟฟ้าสูบน้ำเพื่อการเกษตร 0.7% แต่เมื่อพิจารณาการใช้ไฟฟ้าสูบน้ำเพื่อการเกษตร พบว่า ภาคอีสานใช้ไฟฟ้าสูบน้ำเพื่อการเกษตร 40.1% ของใช้ไฟฟ้าสูบน้ำเพื่อการเกษตรทั้งหมดใช้ประเทศ (อันดับที่ 2 ของประเทศ) เนื่องจากภาคอีสานเป็นแหล่งภาคการเกษตรที่สำคัญของประเทศ

5 อันดับจังหวัดที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด

อันดับที่ 1 นครราชสีมา 6,235 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง

อันดับที่ 2 ขอนแก่น 2,521 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง

อันดับที่ 3 อุบลราชธานี 1,719 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง

อันดับที่ 4 อุดรธานี 1,614 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง

อันดับที่ 5 บุรีรัมย์ 1,302 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง

จะเห็นได้ว่า นครราชสีมามีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด

เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และยังเป็นแหล่งศูนย์กลางความเจริญของภาคอีสาน อีกทั้งยังมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมายในช่วง 10 ปีหลัง และนครราชสีมายังเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และวังน้ำเขียว มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 5 ล้านคนต่อปี จึงทำให้ธุรกิจบริการเกิดขึ้นใหม่มากมาย ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าจึงมากกว่าทุกจังหวัด

เมื่อพิจารณาการใช้ไฟฟ้าทั้งภาคีอสาน จะเห็นได้ว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนระอุตลอดทั้งปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งบางวันมีอุณหภูมิมากถึง 40 องศาเซลเซียส ส่งผลใหแประชากรมีความต้องการที่ใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นโดยเฉพาะการติดตั้งเครื่องปรับอากาศตามบ้านเรือน และหน่วยงานต่างๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้นจากเดิมอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.9% ต่อปี (ค่าเฉลี่ย ปี 2560-2564) โดยไฟฟ้ามีกำลังไฟสำรองเพียงพอต่อความต้องการ แต่ประชากรควรใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด เนื่องจากไฟฟ้าผลิตจาก

ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก โดยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และของเอกชนส่วนมากเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซ แต่ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังลดลงเรื่อยๆ ทำให้ในอนาคตไทยจะพึ่งพาก๊าซธรรมชาติได้น้อยลง หรืออาจต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

อ้างอิงจาก:

http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/13.aspx

https://www.pier.or.th/abridged/2018/16/

http://drdancando.com/เศรษฐกิจไทยวิถีใหม่-กับ/

https://www.tnnthailand.com/news/tnnexclusive/120621/

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top