พาส่องเบิ่ง ผลสำรวจ ระดับ IQ ของนักเรียนชั้น ป.1 ในภาคอีสาน

“ระดับสติปัญญาของคนในชาติมีความสัมพันธ์กับศักยภาพในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและระดับการศึกษา”

จากผลการสำรวจ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระดับสติปัญญาเฉลี่ยเท่ากับ 101.3 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติและสูงกว่าค่ากลางของมาตรฐานสากล (IQ = 100) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาในปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ

เมื่อแยกวิเคราะห์รายจังหวัดพบว่า จังหวัดที่ระดับสติปัญญาสูงกว่า 100 มี 11 จังหวัด หรือคิดเป็น 55% โดยมีจังหวัดหนองคายที่มี IQ มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดมีระดับสติปัญญาต่ำกว่า 100 มี 9 จังหวัด หรือคิดเป็น 45% โดยจังหวัดยโสธร และอำนาจเจริญมี IQ ต่ำกว่ามาตรฐานมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ

โดยผลการสำรวจนี้สะท้อนภาพการดำเนินงานการส่งเสริมพัฒนาการและสติปัญญาของเด็กปฐมวัยที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้การวางแผน กำหนดเป้าหมาย และผลักดันให้เกิดการ ส่งเสริมสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์เด็กไทยทั้งในระดับประเทศ เขตสุขภาพ และจังหวัด โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีระดับสติปัญญาบกพร่อง

ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อ IQ

1. พันธุกรรม

ยีนของเรามีบทบาทสำคัญในการกำหนดระดับสติปัญญา การศึกษาพบว่าความแปรปรวนของ IQ ที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมอยู่ระหว่าง 30% ถึง 80%

โดยโครงสร้างและการทำงานของสมองก็ส่งผลต่อสติปัญญาเช่นกัน คุณสมบัติเฉพาะที่อาจส่งผลต่อ IQ ได้แก่ ขนาดและรูปร่างของสมองส่วนหน้า ปริมาณเลือดและกิจกรรมทางเคมีในสมองส่วนหน้า จำนวนเนื้อสีเทาทั้งหมดในสมอง ความหนาโดยรวมของเปลือกสมอง และอัตราการเผาผลาญกลูโคส

2. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

– การกินที่ดีมีความสำคัญต่อการพัฒนาสมอง อีกทั้งการขาดสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน และโฟเลต อาจนำไปสู่ความบกพร่องทางสติปัญญา

– การศึกษาและการกระตุ้น โดยการเข้าถึงการศึกษาและสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นสามารถช่วยเพิ่มคะแนน IQ ได้

– สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ การเติบโตมาในครอบครัวที่มีรายได้น้อยอาจส่งผลเสียต่อ IQ

– การสัมผัสกับสารอันตรายต่างๆ เช่น ตะกั่วและปรอท อาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาทางสติปัญญาได้เช่นกัน

– สุขภาพจิต และภาวะสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและโรคจิตเภท อาจส่งผลเสียต่อการทำงานของสมอง

สรุปง่ายๆ คือ ปัจจัยที่ส่งผลต่อ IQ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดพื้นฐานสำหรับสติปัญญาของเรา แต่ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมก็สามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมหรือจำกัดการพัฒนาทางสติปัญญาของเรา

อย่างไรก็ตาม IQ ไม่ใช่ตัวชี้วัดสติปัญญาที่สมบูรณ์แบบ และเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิต

หมายเหตุ: เป็นข้อมูลสถานการณ์ระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์เด็กไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ประจำปี 2564 โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึงธันวาคม 2564 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนไทยทั้งเพศชายและหญิง ศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เทอมปลายปีการศึกษา 2563 (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563) ในโรงเรียนทุกสังกัด

อ้างอิงจาก:

– วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปีที่ 31 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2566

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ได้ที่
LINE Official : https://lin.ee/yIS5bdP

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top