ครูไทยแบกภาระเกินจริงที่ไม่ใช่แค่สอน พาสำรวจเบิ่ง “แม่พิมพ์ของชาติ” ในอีสานมีมากแค่ไหน⁉️

เปิดใจ “ครูไทย” ทำงานเกิน 8 ชม./วัน แถมเวลาสอนหายไป 6 ชม./สัปดาห์

เคยรู้หรือไหมว่า “ครูไทย” ของเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง? พบข้อมูลว่า 95% ของคุณครูต้องทำงานหนักเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ 58% ของครูถูกแย่งเวลาสอนไปถึงสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง เพื่อไปทำงานอื่นที่ไม่ใช่ภารกิจหลักนั่นเอง

นี่คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า “แม่พิมพ์ของชาติ” กำลังถูกภาระงานอื่นที่ไม่ใช่การสอนกัดกินเวลาอันมีค่า ทำให้ไม่สามารถทุ่มเทให้กับการพัฒนาลูกศิษย์ได้อย่างเต็มที่

สู่ความจริงอันเจ็บปวด เมื่อ “ครู” ไม่ได้แค่ “สอน”

ปัญหาการทำงานเกินหน้าที่ของครูไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาเรื้อรังของระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน แม้ภาครัฐจะพยายามแก้ไขด้วยการเพิ่มอัตราการจ้างครูธุรการและภารโรงแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าความพยายามเหล่านั้นยังคงเป็นเพียงการบรรเทาอาการ ไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุ

ข้อมูลจาก The Active Thai PBS และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (สสค.) ตอกย้ำภาพความจริงอันน่าหดหู่ว่า มีครูไทยกว่า 95% ต้องทำงานนานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 58% ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปกับงานที่ไม่ใช่การสอน ยิ่งไปกว่านั้น ใน 200 วันทำการ ครูต้องเสียเวลาไปกับงานประเมินผลงาน งานแข่งขันวิชาการ และงานจัดทำโครงการมากถึง 84 วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนขนาดเล็กที่ไร้ซึ่งบุคลากรสนับสนุน ปัญหาเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก

ครูในปัจจุบันไม่ได้มีหน้าที่เพียงถ่ายทอดความรู้เท่านั้น แต่ต้องแบกรับภาระงานสารพัดที่แทบไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กที่ครูคนเดียวต้องควบรวมบทบาททั้งงานการเงิน พัสดุ ธุรการ และแม้แต่งานด้านกฎหมาย ภาระงานที่ถาโถมนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของครูเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียนอีกด้วย เนื่องจากครูไม่มีเวลาเพียงพอในการออกแบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ หรือแม้กระทั่งการดูแลพฤติกรรมเด็กอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็อาจเป็นเหตุผลของการนำไปสู่การเลือกใช้วิธีการลงโทษที่รุนแรงอันเป็นปลายเหตุของปัญหาความเครียด และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของนักเรียนและเป็นปัญหาสังคมตามมาในที่สุด

 

ครูอีสานก็แบกรับภาระการศึกษาที่หนักอึ้ง

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า “สัดส่วนครูต่อนักเรียนทั้งหมดในจังหวัด” ซึ่งสะท้อนถึงภาระงานที่ครูแต่ละคนต้องรับผิดชอบในภาคอีสาน เราจะเห็นภาพที่ชัดเจนว่าครูในภูมิภาคนี้กำลังแบกรับภาระที่หนักอึ้งในการขับเคลื่อนการศึกษาของชาติ โดยภาพรวมของทั้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน พบว่าสัดส่วนนักเรียนต่อครูโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1:20 ถึง 1:22 ซึ่งหมายความว่าครูหนึ่งคนจะต้องดูแลนักเรียนถึง 20-22 คน แม้จำนวนครูโดยรวมจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล แต่เบื้องลึกกลับน่าเป็นห่วง โรงเรียนหลายแห่งในภาคอีสานกำลังเผชิญวิกฤต ‘ครูขาดแคลน’ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 80% ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วง ปัญหานี้ทำให้แม้จะมีนักเรียนน้อย แต่ครูผู้สอนก็ไม่เพียงพอในแต่ละห้องเรียน ซ้ำร้ายครูยังต้องแบกรับภาระงานธุรการจนแทบไม่มีเวลาดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม จังหวัดมหาสารคามโดดเด่นออกมาจากจังหวัดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ด้วยสัดส่วนนักเรียนต่อครูที่สูงถึง 1:31 นี่เป็นตัวเลขที่น่าตกใจและสะท้อนให้เห็นว่าครูในจังหวัดมหาสารคามต้องทำงานหนักกว่าครูในจังหวัดอื่นๆ ด้วยจำนวนนักเรียนที่มากขนาดนี้ ครูอาจจะเผชิญกับข้อจำกัดในการให้ความดูแลเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายบุคคลได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการจัดการชั้นเรียน การตรวจงาน การให้คำปรึกษา และการพัฒนาศักยภาพนักเรียน ซึ่งเป็นไปได้ยากขึ้นอย่างชัดเจน

จากสัดส่วนดังกล่าว ซึ่งก็แสดงถึงภาระต่างๆ ที่ครูอีสานต้องแบกรับในแต่ละวันได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นภาระการสอนที่ต้องเข้มข้น เนื่องจากต้องสอนนักเรียนจำนวนมากในแต่ละคาบ ทำให้เวลาในการจัดการกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย หรือการให้คำแนะนำรายบุคคลลดลง การสอนอาจเน้นที่การถ่ายทอดความรู้เป็นหลักมากกว่าการพัฒนาทักษะหรือความคิดสร้างสรรค์

นอกจากนี้ยังมีภาระการประเมินผลและการให้คำแนะนำ ซึ่งการตรวจงาน การให้คะแนน และการให้ข้อเสนอแนะแก่นักเรียนจำนวนมากเป็นงานที่ใช้เวลาและพลังงานมหาศาล ครูอาจมีเวลาไม่เพียงพอที่จะให้ข้อเสนอแนะที่ละเอียดและนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง

อีกทั้งภาระในการดูแลนักเรียนที่ไม่ใช่แค่การเรียน ครูยังต้องเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ดูแลความเป็นอยู่ เป็นนักจิตวิทยา และเป็นผู้คอยแก้ปัญหาให้กับนักเรียน ซึ่งเมื่อมีนักเรียนจำนวนมาก ความต้องการและปัญหาที่หลากหลายก็ย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ครูต้องใช้พลังงานและเวลาในการดูแลนักเรียนนอกเหนือจากหน้าที่การสอนตามปกติ

ไม่เพียงเท่านั้น ครูยังต้องแบกรับภาระงานเอกสารและธุรการจำนวนมาก ซึ่งงานเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อจำนวนนักเรียนและชั้นเรียนที่รับผิดชอบมีมากขึ้น ทำให้เวลาที่ควรจะทุ่มเทให้กับการสอนและการพัฒนานักเรียนถูกแบ่งไปอย่างน่าเสียดาย บางครั้งครูต้องรับผิดชอบโครงการพิเศษของโรงเรียน การจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร การเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินต่างๆ จากหน่วยงานภายนอก หรือแม้กระทั่งงานซ่อมบำรุงเล็กๆ น้อยๆ ภายในโรงเรียนด้วยตนเอง

สุดท้าย เมื่อต้องทำงานหนักภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดและจำนวนนักเรียนที่มาก ครูย่อมมีโอกาสเผชิญกับความเครียดและภาวะหมดไฟได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพการสอนและสุขภาพจิตของครูในระยะยาว อีกทั้งยังทำให้มีข้อจำกัดในการพัฒนาตนเอง เนื่องจากภาระงานที่รัดตัวนั่นเอง

 

แนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ด้านสภาผู้บริโภคเองก็มีการเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนระบบงานและการบริหารงานบุคคลในโรงเรียนอย่างจริงจัง ควรมีเจ้าหน้าที่ประจำดูแลงานเฉพาะทางอย่างเต็มเวลา และเร่งกระจายบุคลากรทางการศึกษาที่กระจุกตัวในบางพื้นที่ให้ไปสู่โรงเรียนต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยย้ำว่าไม่มีประเทศไหนที่ปล่อยให้ครูจมอยู่กับงานเอกสารจนกระทบคุณภาพการสอน

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมให้ความสำคัญกับการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะงานธุรการ การเงิน และพัสดุ นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะปรับสัดส่วนบุคลากรให้เหมาะสม เพื่อให้ครูมีเวลาดูแลและพัฒนานักเรียนได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการทบทวนหลักเกณฑ์การขอวิทยฐานะ และการเน้นย้ำความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เพื่อให้เด็กไทยเข้าใจรากเหง้าของประเทศและการปกครองระบอบประชาธิปไตย

โดยสรุปเป็น 4 ประเด็นสำคัญที่จะผลักดันร่วมกับ สพฐ. ได้แก่ การลดภาระงานครู การเพิ่มสวัสดิการครู การผลักดันการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทยและหน้าที่พลเมือง และการพัฒนาวิทยาศาสตร์พร้อมปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่

 

อ้างอิงจาก:

– กระทรวงศึกษาธิการ

– เครือข่ายครูขอสอน

– สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (สสค.)

– The Standard

– The Active Thai PBS

– ประชาชาติธุรกิจ

 

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่

https://linktr.ee/isan.insight

 

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ครูไทย #ครูอีสาน #ครูแบกรับภาระหนัก #คืนครูให้ห้องเรียน #ครูธุรการ #ครูการเงิน #ลดภาระงานครู

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top