ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ความคืบหน้ากรณีพบสารปนเปื้อนทั้งสารหนูและสารตะกั่วในแม่น้ำกก สาเหตุมากจากการทำเหมืองทองคำของกลุ่มทุนจีนในพื้นที่ต้นแม่น้ำ เขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตผู้คนในลุ่มแม่น้ำกก ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค วิถีชีวิตประมง และเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาสายน้ำแห่งนี้
ล่าสุดภาพที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตเผยแพร่ ยิ่งตอกย้ำความน่ากังวล เมื่อพบปลาในแม่น้ำกกและแม่น้ำโขงเริ่มมีการติดเชื้อ โดยปลาที่จับได้มีตุ่มสีแดงตามครีบ ปาก และหนวด มีอาการคล้ายปลาป่วย ซึ่งสร้างความกังวลอย่างยิ่งให้กับชาวบ้านที่ดำรงชีพด้วยการหาปลา เพราะเกรงจะมีอันตรายต่อผู้บริโภค
มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ได้เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าบริเวณต้นแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย นอกเหนือจากเหมืองทองคำที่มีอยู่เดิมแล้ว ยังอาจมีการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธทางตอนใต้ของเมืองสาด รัฐฉาน พม่า ซึ่งห่างจากชายแดนไทยอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพียง 25 กิโลเมตรเท่านั้น ลักษณะของบ่อน้ำเพื่อการทำแร่ที่ตั้งเรียงกันเป็นวงกลมหลายชั้น ซึ่งคล้ายโครงการขุดแร่แรร์เอิร์ธในรัฐคะฉิ่นซึ่งดำเนินการโดยบริษัทจีน และยิ่งเพิ่มความกังวลใจอย่างหนักถึงสารพิษตกค้างจากเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในเมืองสาดแห่งนี้ ที่อาจเป็นอีกหนึ่งต้นกำเนิดของสารพิษที่ไหลลงสู่แม่น้ำกก ทำให้สถานการณ์น้ำในแม่น้ำกกเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม และคุกคามสุขภาพของประชาชนกว่าล้านคนที่อาศัยอยู่บริเวณท้ายน้ำทั้งสองฝั่งชายแดน
ซึ่งการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในรัฐคะฉิ่นนั้นเป็นวิธีการทำเหมืองและละลายแร่ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยต้องเทสารเคมีผ่านทอไปในเนินเขาเพื่อละลายแร่แรร์เอิร์ธ จากนั้นจะมีการสูบสารเคมีดังกล่าวเพื่อส่งผ่านท่อไปยังบ่อน้ำ และมีการเติมสารเคมีเพิ่มเติมเพื่อสกัดแร่แรร์เอิร์ธ
ดังนั้น เหมืองแร่แรร์เอิร์ธ ในเมืองยอน เขตเมืองสาด อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของต้นกำเนิดของสารพิษที่ถูกปล่อยลงในแม่น้ำกกไหลเข้าสู่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านจังหวัดเชียงราย และบรรจบลงสู่แม่น้ำโขงอันยิ่งใหญ่ที่อำเภอเชียงแสน เหมืองแร่แรร์เอิร์ธจึงไม่ได้เป็นเพียงปัญหาภายในประเทศเพื่อนบ้าน หรือจำกัดอยู่แค่ภาคเหนือของไทยอีกต่อไป แต่อาจจะกลายเป็นภัยคุกคามข้ามพรมแดนที่น่ากังวลสำหรับภาคอีสาน
แม่น้ำโขงเปรียบเสมือนหัวใจของภาคอีสาน หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนนับล้านที่พึ่งพาสายน้ำแห่งนี้ในการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การประมง หรือการท่องเที่ยว เมื่อสารพิษอย่างสารหนูและตะกั่วจากแม่น้ำกกไหลลงสู่แม่น้ำโขง ย่อมหมายถึงการคุกคามโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน ชาวบ้านริมโขงที่ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ปลูกพืชผัก หรือเลี้ยงสัตว์น้ำ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษสะสมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพเรื้อรังและโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงในระยะยาว
ปลาและสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชุมชนริมน้ำ เมื่อสัตว์น้ำติดเชื้อหรือปนเปื้อนสารพิษ ย่อมส่งผลกระทบ การประมงพื้นบ้านที่เคยเป็นวิถีชีวิตและแหล่งรายได้หลัก จะเผชิญกับภาวะวิกฤตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การปนเปื้อนสารพิษจะทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์น้ำนานาชนิด ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ซึ่งเป็นการสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้นั่นเอง
ผลกระทบยังลามไปถึงภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ แม่น้ำโขงเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งการล่องเรือ การเยี่ยมชมวิถีชีวิตริมน้ำ หรือการทำกิจกรรมทางน้ำ เมื่อแม่น้ำถูกปนเปื้อน ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือจะลดลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และบริการท่องเที่ยวที่พึ่งพิงแม่น้ำโขงจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย และที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือภาคการเกษตรและประมง สารพิษที่สะสมในน้ำก็อาจจะส่งผลกระทบต่อน้ำสำหรับการเกษตร ทำให้ผลผลิตลดลง หรือปนเปื้อนสารพิษจนไม่สามารถบริโภคได้ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ริมโขงก็จะต้องหยุดชะงัก
อ้างอิงจาก:
– ประชาไท
– Naewna
– ไทยพีบีเอส (Thai PBS)
– Lanner
– PPTVHD36
– ข่าวสดออนไลน์
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #แม่น้ำกก #แม่น้ำสาย #แม่น้ำโขง #เหมืองแร่แรร์เอิร์ธ #เหมืองทองคำทุนจีน #ทุนจีน #ปลาติดเชื้อ #สารปนเปื้อนแม่น้ำกก