เรื่องของ “วัวเนื้อ” กับข้อได้เปรียบจากการเลี้ยงเพื่อการส่งออกของอีสาน

🐂 จำนวนโคเนื้อ
.
ในปี 2564 ประเทศไทยมีโคเนื้อกว่า 7.58 ล้านตัว โดยภูมิภาคที่เลี้ยงโคเนื้อมากที่สุด คือ ภาคอีสาน 3.97 ล้านตัว (52.32%) รองลงมาเป็น ภาคกลาง 1.31 ล้านตัว (17.26%) ภาคเหนือ 1.21 ล้านตัว (15.97%) และภาคใต้ 1.10 ล้านตัว (14.45%) ส่วนจังหวัดที่เลี้ยงโคเนื้อมากที่สุดในประเทศ ได้แก่ สุรินทร์ นครราชสีมา อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ
.
🥩 สถานการณ์การนำเข้า-ส่งออกโคเนื้อ
.
ก่อนอื่นต้องรู้ว่า การนำเข้า-ส่งออก สินค้าที่เกี่ยวข้องกับโคเนื้อ จะแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ ดังนี้
.
1. โคเนื้อมีชีวิต ประกอบด้วย โคมีชีวิตสำหรับทำพันธุ์ และโคมีชีวิตอื่น ๆ
.
2. เนื้อโคและส่วนอื่นที่กินได้ ประกอบด้วย เนื้อโคสดแช่เย็น เนื้อโคสดแช่แข็ง และเครื่องในโคเนื้อและส่วนอื่นที่บริโภคได้
.
3. ผลิตภัณฑ์เนื้อโค เช่น เนื้อโคแปรรูป
.
👉 สำหรับการนำเข้า ปี 2564 ไทยนำเข้าเนื้อโคและผลิตภัณฑ์มากที่สุด (93.82%) เป็นจำนวน 48,678 ตัน มูลค่า 5,628.40 ล้านบาท โดยประเทศที่ไทยนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น
.
👉 ส่วนการส่งออก ปี 2564 ไทยส่งออกโคเนื้อมีชีวิตมากที่สุด (99.43%) เป็นจำนวน 198,134 ตัว มูลค่า 3,527.24 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโคเนื้อมีชีวิตสำหรับทำพันธุ์ จำนวน 40,178 ตัว มูลค่า 621.95 ล้านบาท โดยประเทศที่ไทยส่งออกมากที่สุด ได้แก่ สปป. ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย
.
ทั้งนี้ การส่งออกโคเนื้อมีชีวิตไป สปป. ลาว จะเป็นการส่งออกไปจีนผ่าน สปป.ลาว เป็นหลัก เนื่องจากต้องถูกกักเพื่อตรวจสอบโรค โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย และลัมปีสกิน ที่กำลังระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไม่มีตัวเลขการส่งออกไปจีนที่เป็นตลาดใหญ่ของไทย
.
โดยจีนกำหนดคุณสมบัติโคที่จะรับซื้อว่า จะต้องเป็นลูกผสมอเมริกันบราห์มัน หรือลูกผสมยุโรปทุกสายพันธุ์ น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350 – 400 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ส่งออกวันละ 2,000 ตัว
.
.
📌 ปัญหาและโอกาสในการส่งออกโคเนื้อของไทย
.
ทุกวันนี้ประเทศไทยผลิตโคเนื้อเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก จากความต้องการของเหล่า Meat Lovers หรือคนรักเนื้อ ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายเนื้อโคแบบชาบูหรือปิ้งย่าง ทำให้ความต้องการของตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น
.
แต่สำหรับตลาดต่างประเทศ ที่นิยมนำเข้าเนื้อโคเกรดคุณภาพ (Premium) ซึ่งไทยยังผลิตได้น้อย เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย พวกเขายังขาดความรู้เรื่องธุรกิจและเทคโนโลยีการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ ทำให้ยังไม่สามารถควบคุมปริมาณการผลิตและคุณภาพให้สม่ำเสมอได้ รวมถึงการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
.
สะท้อนจากจำนวนโรงงานฆ่าสัตว์ตามมาตรฐานสากลที่ยังมีน้อย ผู้ประกอบการขาดความรู้ในด้านการจัดการหลังการฆ่า เช่น การเก็บรักษา การตัดแต่งแยกชิ้นส่วน การพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์
.
ดังนั้น ภาครัฐจึงควรสนับสนุน ทั้งการให้ความรู้ การช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อให้มีมาตรฐาน เช่น มาตรฐานโรงงานและโรงเชือดแบบ GMP HACCP และ HALAL มาตรฐานของการเลี้ยงแบบ GAP และการสร้างเขตปลอดโรค รวมไปถึง การกำหนดหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกโคเนื้อมีชีวิต และผลิตภัณฑ์เนื้อโคไปตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน
.
.
📌 ข้อได้เปรียบจากการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อการส่งออกของอีสาน

สำหรับภาคอีสาน นอกจากจะเป็นภูมิภาคที่เลี้ยงโคเนื้อมากที่สุด เหมาะกับการต่อยอด ยังมีความได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น กากมันสำปะหลัง ฟางข้าว และเปลือกข้าวโพด ที่นิยมนำมาผสมเป็นอาหารข้นเลี้ยงโคขุน เนื่องจากมีราคาถูก และให้คุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าอาหารหยาบ (หญ้าสด) รวมไปถึงความได้เปรียบในเส้นทางคมนาคมไปจีน
.
ที่ถ้าหากภาครัฐสามารถรวมกลุ่มและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยตามที่กล่าวไปข้างต้นได้ เชื่อว่านี่จะเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของภูมิภาคและประเทศแน่นอน
.
.
ที่มา: สำนักการค้าสินค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมปศุสัตว์,
https://region6.dld.go.th/…/th/service-menu/stat-report,
https://www.salika.co/…/thailand-meat-industry-go-inter/
และ https://pasusart.com/การเลี้ยงโคขุน-ไม่ยาก-แ/

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top