ภาคอีสานมีโครงการที่จะสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่อยู่ 3 แห่งในอนาคต ซึ่งท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่ว่านั้น ประกอบด้วย
.
1.ท่าอากาศยาน “มุกดาหาร”
กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างและพบว่าสถานที่ที่เหมาะสม คือ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร ในพื้นที่ 2,000 กว่าไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองมุกดาหารเพียง 20 กม. ห่างจากสนามบินนครพนม สกลนคร และร้อยเอ็ด 120, 125 และ 134 กม. ตามลำดับ โดยเป็นไปตามข้อกำหนดที่ว่าสนามบินต้องก่อสร้างห่างกันเกินกว่า 100 กม.
.
อีกทั้งยังเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน กล่าวคือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีโอกาสทางการค้าและการลงทุนสูง โดยกลุ่มผู้โดยสารน่าจะมาจากสุวรรณเขต สปป.ลาว รวมถึงผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก เพื่อเชื่อมต่อไปยังด่านแม่สอด จ.ตาก และข้ามต่อไปยังประเทศเมียนมา ตรงจุดนี้กรมท่าอากาศยานคาดการณ์ว่าผลตอบแทนที่ได้รับจะเกิดความคุ้มค่าและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดมุกดาหารได้
.
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการการจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่น ๆ รวมไปถึงศึกษาการรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับเต็ม (EIA) โดยจะขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ในงบวงเงินประมาณ 42.69 ล้านบาท และหากนับจากปี 2565 คาดว่าจะแล้วเสร็จให้ใช้ในปี 2570
.
2.ท่าอากาศยาน “บึงกาฬ”
จังหวัดน้องใหม่ล่าสุดของประเทศไทย จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการสร้างสนามบิน พบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่าง ต.โป่งเปือย และต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ โดยใช้ที่ดินคิดเป็นพื้นที่กว่า 2,500 ไร่
.
โดยอยู่ห่างจากวงเวียนหอนาฬิกาที่ อ.เมืองบึงกาฬประมาณ 12 กม. นับว่าตั้งอยู่ใจกลางเมืองบึงกาฬเลยก็ว่าได้ ทั้งยังอยู่ระหว่างทางเลี่ยงเมืองที่ตัดสู่สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ และหากสังเกตจะพบว่า บึงกาฬมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ โบราณคดีหลายแห่ง หากมีการก่อสร้างสนามบินก็คาดว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว พร้อมกับสร้างรายได้ให้กับจังหวัดได้ด้วย
.
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการสรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างฉบับสมบูรณ์ ก่อนที่จะนำเสนอกับกรมท่าอากาศยานและกระทรวงคมนาคมเพื่อขออนุมัติ ก่อนจะทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมฉบับเต็ม (EIA) และจัดหางบประมาณ อันนำไปสู่การจัดสร้างสนามบิน หากเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้ คาดว่าจะสามารถใช้บริการท่าอากาศยานบึงกาฬได้ในปี 2571
.
3.ท่าอากาศยาน “สารสินธุ์”
เป็นโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานของจังหวัดกาฬสินธุ์ที่เพิ่มเข้ามาล่าสุด โดยคาดการณ์ว่าจะใช้พื้นที่ของ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ในการก่อสร้าง
.
เหตุผลที่เลือกพื้นที่นี้เป็นเพราะ อ.ยางตลาดอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่าง กาฬสินธุ์ – มหาสารคาม ทำให้ประชาชนทั้งในกาฬสินธุ์เองและมหาสารคาม สามารถเดินทางมาใช้บริการได้สะดวก อีกทั้งกาฬสินธุ์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่กระจายอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ มีการส่งออกพืชและสัตว์เศรษฐกิจ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา กุ้งก้ามกราม และปลากระชัง เป็นต้น หากมีสนามบินภายในตัวจังหวัดจะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องของการขนส่งทางอากาศให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัย พร้อมดึงดูดนักธุรกิจให้เข้ามาลงทุนภายในจังหวัดเพิ่มมากขึ้นได้
.
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาได้มีการรับฟังคิดเห็นของประชาชน (ปฐมนิเทศโครงการ) เป็นครั้งแรก โดยหลังจากนี้จะดำเนินการสำรวจออกแบบระบบท่าอากาศยานและจัดทำแบบรายละเอียดเบื้องต้น รวมถึงศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพื่อนำเสนอผลต่อกระทรวงคมนาคมใหม่อีกครั้ง
.
.
อย่างไรก็ตาม ท่าอากาศยานถือเป็นอีกช่องทางในการคมนาคมและการขนส่งที่มีความสำคัญในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเชื่อมโยงทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วน การผลิตอากาศยาน และในส่วนของการลงทุน การค้า การขนส่ง รวมไปถึงการท่องเที่ยว ให้เกิดขึ้นในจังหวัดที่มีแผนในการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการคมนาคม อันนำไปสู่การพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของจังหวัดนั้น ๆ ให้เกิดการขยายตัว
.
เป็นไปได้ว่า อนาคตหากการสร้างสนามบินทั้ง 3 แห่งแล้วเสร็จ อาจเพิ่มพื้นที่ที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสำคัญอีกของภูมิภาครวมไปถึงประเทศได้
.
#ISANInsightAndOutlook
.
.
อ้างอิง
ท่าอากาศยาน “มุกดาหาร” : https://www.thansettakij.com/business/484357
ท่าอากาศยาน “บึงกาฬ” : https://thainews.prd.go.th/…/TCATG210107214156130…
ท่าอากาศยาน “สารสินธุ์”: https://mgronline.com/local/detail/9640000025345
https://www.krungsri.com/…/air…/IO/io-Air-Transport-21