ครั้งแรกในรอบ 10 ปี คนอีสาน เกิด-ตาย เกือบเท่ากัน ในขณะที่คนไทยเกิดน้อยกว่าตาย 4 ปีซ้อน

“การลดลงของประชากรอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง มีรายได้สูง ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากร เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และอาจมีความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจ” วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   ปัญหาการลดลงของอัตราการเกิดใหม่ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นความท้าทายที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญและพยายามแก้ไขอย่างจริงจัง แม้ว่าผลกระทบในปัจจุบันอาจยังไม่ชัดเจน แต่ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า การหดตัวของประชากรวัยแรงงานจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง และประเทศจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง   ทำไมคนไทยถึงมีลูกน้อยลง สาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจไม่มีลูกหรือมีลูกน้อยลงนั้น เกิดจากทั้งวิถีชีวิตและทัศนคติที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น มีความหลากหลายทางเพศที่ทำให้รูปแบบครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ขยับตัวไม่ทัน ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้จึงไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้อย่างมีคุณภาพ กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ทำให้ตัดสินใจไม่อยากมีลูก เนื่องจากกังวลเรื่องรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนจบปริญญาตรีสูงถึงประมาณ 5 แสน จนถึง 2 ล้านบาทต่อคน ทำให้หลายครอบครัวลังเลหรือชะลอการมีบุตร   10 ปีที่ผ่านมาการเกิดของคนไทยลดลงไปมากแค่ไหน ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีจำนวนการเกิดลดลงในทุกๆปี ซึ่งตรงกันข้ามกับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี การระบาดของโควิด-19 เป็นเสมือนสิ่งที่กระตุ้นให้ทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2564 เป็นปีที่คนไทยมีจำนวนการเกิดใหม่อยู่ที่ 544,570 คน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตนั้นมีสูงถึง 563,650 คน ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในทางกลับกันการระบาดของไวรัสทำให้ผู้คนพบเจอกันน้อยลงปฎิสัมพันธ์ของคนก็น้อยลงเช่นกัน เหลือแต่เพียงการติดต่อกันผ่านทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แม้จะผ่านพ้นช่วงการระบาดของโควิด-19 มาแล้วก็ตามแต่จำนวนการเสียชีวิตของคนไทยก็ไม่ได้มีการลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19ขนาดนั้น หนำซ้ำจำนวนการเกิดของคนไทยกลับลดลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่กำลังเกิดในปัจจุบันเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลัง และใกล้เข้ามามากขึ้นทุกวันๆ รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถาบันฯ ได้ทำการสำรวจข้อมูลในปลายปี 2567 ในประชาชนไทยอายุ 28 ปีเป็นต้นไป จำนวน 1,000 กว่าคน พบว่า ร้อยละ 71 มองว่าการเกิดน้อยเป็นวิกฤตของประเทศ และมีเพียงร้อยละ 6 มีมองว่ายังไม่ใช่วิกฤต “ซึ่งข้อค้นพบนี้ทำให้เห็นว่าคนไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตนี้ ส่วนคำถามถึงแผนการมีบุตรในกลุ่มประชากรที่มีความพร้อม พบว่าร้อยละ 35.8 ตอบว่าจะมีลูกแน่นอน ร้อยละ 29.9 ตอบว่า อาจจะมีลูก ร้อยละ 14.6 ตอบว่า ไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.1 ตอบว่าจะไม่มีลูก และร้อยละ 6.6 ตอบว่าจะไม่มีลูกอย่างแน่นอน”จากชุดข้อมูลพบว่า มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่คิดจะมีลูก แม้จะน้อยแต่ก็ยังเป็นแนวโน้มในเชิงบวก ส่วนกลุ่มที่ตอบว่า “อาจจะมีลูก” นั้น เป็นกลุ่มสำคัญต่อนโยบายส่งเสริมการมีลูก ที่จะต้องไปพูดคุยอย่างชัดเจนให้ถึงสาเหตุของการตอบว่า อาจจะ เพราะหากมีการสนับสนุนที่ตรงจุดก็จะทำให้กลุ่มดังกล่าว มั่นใจที่จะมีลูกเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ประชากรที่จะมีลูกอย่างแน่นอนเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละกว่า 60   ภาพที่ 1: จำนวนการเกิด และเสียชีวิตของประชากรทั่วประเทศ พ.ศ. 2558 … Continue reading ครั้งแรกในรอบ 10 ปี คนอีสาน เกิด-ตาย เกือบเท่ากัน ในขณะที่คนไทยเกิดน้อยกว่าตาย 4 ปีซ้อน