พามาเบิ่ง🧐 ขุมทรัพย์ทองคำ 64 ต้น 🪙 1 ในแนวแร่ทองคำในไทย : “แนวเลย – เพชรบูรณ์ – ปราจีนบุรี”

แร่ทองคำเป็นทรัพยากรธรณีที่มีมูลค่าสูงและมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลกมาตั้งแต่สมัยอดีต ด้วยคุณสมบัติที่หายากและมีความคงทน ทองคำจึงถูกนำมาใช้ทั้งในด้านอุตสาหกรรม เครื่องประดับ และการลงทุน ในประเทศไทยก็มีการใช้ประโยชน์จากทองคำมาตั้งแต่โบราณ ทราบจากหลักฐานโบราณวัตถุและบันทึกต่างๆ ซึ่งในพื้นที่ประเทศไทยมีแหล่งแร่ทองกระจายอยู่หลายแหล่งทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีจำนวน 32 แหล่ง มีทรัพยากรแร่ทองคำประมาณ 148 ตัน โดยสามารถแบ่งพื้นที่แหล่งแร่ทองคำในไทยออกเป็นแนวพื้นที่ จำนวน 5 แนวหลักทั่วประเทศ โดยอีสาน อินไซต์ จะพามาทำความรู้จักกับ 1 ในแนวแร่ที่มีพื้นที่ตัดผ่านบางพื้นที่ภาคอีสาน ตัวอย่างแหล่งแร่ รวมไปถึงกรณีศึกษาการทำเหมืองแร่ในอีสาน แนวแร่ทองคำที่กล่าวไปข้างต้นคือ “แนวเลย – เพชรบูรณ์ – ปราจีนบุรี” แนวแร่ทองคำแห่งนี้เริ่มต้นตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี เพชรบูรณ์ พิจิตร ลพบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว จัดเป็นแนวที่มีศักยภาพทางแร่ทองคำสูงที่สุดใน 5 แนวของไทย โดยลักษณะการเกิดทองคำบริเวณแนวนี้เป็นแบบปฐมภูมิหมายถึง แหล่งแร่ทองคำที่เกิดร่วมกับหินต้นกำเนิด หรือแทรกอยู่ในหินท้องที่ โดยจากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีพบว่ามีปริมาณทรัพยากรแร่ทองคำประมาณ 64 ตัน ยกตัวอย่างแหล่งแร่ทองคำ และแหล่งศักยภาพในอีสานบริเวณแนวแร่นี้ เช่น แหล่งแร่ภูพระ อ.เมือง จ.เลย แหล่งภูทับฟ้า อ.วังสะพุง จ.เลย แหล่งภูปักธง อ.เมือง จ .เลย แหล่งบ้านชำเจียง อ.สังคม จ.หนองคาย แหล่งบ้านเทพประทาน อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี แม้ว่าจะมีหลายพื้นที่ที่เป็นแหล่งทองคำและแหล่งศักยภาพ แต่ก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะทำการทำเป็นเหมือง อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภูทับฟ้า ภูเหล็ก และภูซำป่าบอน อ.วังสะพุง จ.เลย ได้รับการสำรวจว่ามีปริมาณแร่ทองคำเพียงพอที่จะทำเป็นเมือง ในช่วงปี 2530 ซึ่งต่อมา “บริษัท ทุ่งคำ จำกัด” ได้ทำการเข้ามาสำรวจพื้นที่ และได้รับอนุญาตให้เปิดการทำเหมืองและประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ การเข้ามาทำเหมืองบริเวณพื้นที่ ไม่เป็นดั่งที่หลายคนคาดหวัง เนื่องจากได้ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แหล่งน้ำบาดาลบริเวณนั้นถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมีอันตรายหลายชนิด ซึ่งนำไปสู่การการรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาตลอดช่วงปี 2550 – 2557 ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้อง การประท้วง และความรุนแรงต่อร่างกายและความเสียหายต่อทรัพย์สินของชาวบ้านขึ้น จังหวัดเลยเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรณีหลากหลายชนิด นอกจากทองคำแล้วยังมีแร่เหล็ก ทองแดง แกรนิต และอื่นๆ อีกมากมาย จากกรณีของเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า หากมีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้โดยปราศจากการวางแผนอย่างรอบคอบและไม่คำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติ อาจนำไปสู่ความเสียหายทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในระยะยาว ที่มา: กรมทรัพยากรธรณี, มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน, มิตรเอิร์ธ